ความชราของร่างกายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวแก่อย่างมีประโยชน์ โดยการหมั่นฝึกฝนตน มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ตลอดจนมีสติในการดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบเทียบร่างกายที่ต้องชราภาพ กับราชรถที่ชำรุดทรุดโทรม แต่ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้นั้นไม่มีความชราภาพ อีกทั้งยังไม่เกี่ยวเนื่องด้วยเวลา (อกาลิโก) จึงได้ยก 4 เรื่องราวที่มาในธรรมบทแปลที่มาในหมวด “ชราวรรค” นำเสนอเรื่องราวของบุคคลที่เป็นคติสอนใจเกี่ยวกับความแก่ชราเพื่อประกอบหัวข้อธรรม ดังนี้
เรื่อง พระนางรูปนันทาเถรี 
พระนางรูปนันทา ผู้เลิศด้านเพ่งด้วยญาณ น้องสาวของพระพุทธเจ้าผู้หลงในรูปงามของตน ออกบวชตามพระญาติโดยไม่มีศรัทธา  แต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดง “กายคตาสติ” พระนาง จึงบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน สุดท้ายได้เป็นบรรลุพระอรหันต์ด้วยเพ่งพิจารณาตามไปในพระคาถาที่ว่า

“สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะและมักขะ.”
เรื่อง พระนางมัลลิกาเทวี 
พระพุทธเจ้าทรงเทศน์สอนเกี่ยวกับการตายของนางพระนางมัลลิกา เปรียบเทียบกับราชรถยังชำรุดทรุดโทรมได้ จะกล่าวอะไรแม้ร่างกายนี้ก็เช่นกัน แต่ธรรมของสัตบุรุษหาหาได้เข้าถึงชราไม่ สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้

“ราชรถที่วิจิตรดี ยังคร่ำคร่าได้แล, อนึ่ง ถึงสรีระก็ย่อมถึงความคร่ำคร่า, ธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงความคร่ำคร่าไม่, สัตบุรุษทั้งหลายแล ย่อมปราศรัยกับด้วยสัตบุรุษ.”
เรื่อง พระโลฬุทายีเถระ 
พระโลฬุทายีเถระ ผู้ไม่ใฝ่เรียนรู้ ฝึกฝนจนแก่ไป ย่อมเหมือนโคถึก ปัญญาย่อมไม่เจริญ

“คนมีสุตะน้อยนี้  ย่อมแก่เหมือนโคถึก, เนื้อของเขาย่อมเจริญ, แต่ปัญญาของเขาหาเจริญไม่”.
และสุดท้าย เรื่อง บุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก 
บุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ต่อมาหมดตัวเพราะประพฤติตนสู่อบายมุข เมื่อแก่เฒ่าต้องไปเป็นขอทาน

“พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมซบเซา ดังนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ในเปือกตมที่หมดปลาฉะนั้น. พวกคนเขลา ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า เหมือนลูกศรที่ตกจากแล่งฉะนั้น.”