คำถามเก็บตกจากรายการ “ธรรมะรับอรณ ไลฟ์สด” เมื่อเสาร์-อาทิตย์-จันทร ์ ที่ผ่านมา

Q1: เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ได้ฟังการตอบคำถามในประเด็นของการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เช่น ฆ่าปลา โดยเจาะจงเพื่อทำอาหารนำมาถวายพระ จะเป็นบาปทั้งผู้ถวายและพระผู้รับ หากทราบที่มา ผู้ถามจึงต้องการทราบว่ากรณีพระติสสะที่ชาติก่อนเป็นพรานจับนก ฆ่านก และเผอิญได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเจาะจงฆ่านกเพื่อนำมาแกงใส่บาตรให้พระฉัน แม้ทำบุญเพียงครั้งเดียว ในกรณีนี้เพราะเหตุใดถึงส่งผลให้พระติสสะในชาติต่อมาได้บรรลุอรหันต์ในช่วงสุดท้ายก่อนสิ้นใจ

การฆ่าสัตว์แบบเจาะจงมาเป็นอาหาร ก็ทำให้บุญนั้นมีมลทิน เศร้าหมอง ไม่ผ่องแผ้วในตัวออยู่แล้ ในกรณีของพระติสสะ หรือ “พระปูติคัตตติสสเถระ” ผู้มีกายเน่าและได้รับความทุกข์ทรมานจากเวทนาในความเจ็บป่วยนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์ถึงกายท่านที่เน่า กายที่หาสาระไม่ได้ กายที่เป็นรังโรค กายที่ไม่ควรยึดถือเอาไว้ด้วยความเป็นตัวตน ท่านจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นใจ ด้วยเหตุปัจจัยที่สร้างไว้ในชาติก่อนที่เคยเป็นพรานนกแล้วขายให้กับอิสระชน ดังนี้

ในชาติสุดท้าย เหตุเพราะเวลาจับนกได้มากเกินกว่าความต้องการซื้อ จึงต้องหักปีกและขานกเพื่อเก็บไว้ขายในวันถัดไป จึงทำให้ท่านเกิดมามีกายเน่าและกระดูกแตก
ระหว่างทางที่กำลังจะไปขายนก ได้พบกับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าและจิตใจมีความเลื่อมใสมาก จึงนำนกที่จับมาได้ทำอาหารถวาย ด้วยกรรมดีนี้ซึ่งเป็นกรรมที่ไม่ได้ฆ่านกเพื่อนำมาทำอาหารถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้าแบบเจาะจง จึงเป็นเหตุปัจจัยให้ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้ายเช่นกัน

Q2: ถ้าลูกทำผิด พ่อแม่บางคนเสียใจมากถึงขนาดร้องไห้ แต่พ่อแม่ของบางคนก็รับได้ ไม่ทุกข์ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา อยากทราบว่าลูกที่ทำผิดนั้นบาปหรือไม่

บาปนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และจะมีมากหรือน้อยขึ้นกับกรรมที่ลูกได้กระทำ ไม่ได้ขึ้นกับความเสียใจของพ่อแม่ แต่บาปจะขยายออกไปเป็นวงกว้างกลายเป็นการสร้างความทุกข์ใจหรือเป็นการเบียดเบียนให้พ่อแม่เสียใจ ทั้งนี้เหตุของความทุกข์ที่เกิดกับพ่อแม่ก็เนื่องมาจากความรัก ตัณหา ราคะ และฉันทะ จึงทำให้เกิดทุกข์มาก รวมทั้งความยึดถือในแต่ละฝ่ายด้วย อย่างไรก็ตามเราสามารถขจัดสิ่งที่ไม่น่าพอใจและความทุกข์ที่มากลุ้มรุมจิตใจได้ด้วย “การปล่อยวาง”

ทั้งนี้เราควรตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่พอจะเสมอกันได้ ด้วยการประดิษฐานให้ท่านมีพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา

Q3: ไม่เคยเข้าวัดเลย อยากจะฝึกทำสมาธิ ควรเริ่มอย่างไร

เรื่องของ สถานที่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการฝึกทำสมาธิต้องเริ่มที่จิตของเราก่อน ด้วยจิตที่สามารถรับรู้ได้ในผัสสะต่าง ๆ และเป็นจิตที่มีความอดทนต่อ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในการเข้าสู่สมาธิได้ง่าย

Q4: ทำไมคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนที่ชอบฟังธรรมะ ชอบเรียนธรรมะ ไปวัดทำบุญ ต้องมีความทุกข์หรือมีปัญหาชีวิต

เพราะศรัทธามีทุกข์เป็นที่ตั้งอาศัย อีกทั้งนิยามของความทุกข์ในแต่ละบุคคลก็มีความหมายแตกต่างกัน เพราะความที่มีปัญญาเห็นทุกข์ต่างกัน นั่นเอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากทุกข์ทำให้อินทรีย์แก่กล้า ซึ่งเป็นต้นสายของการเกิดแห่งพละ 5 นั่นคือ ความเพียร (วิริยะ) สติ สมาธิ และปัญญา ที่จะเกิดตามมา

Q5: เมื่อต้องดูแลคนป่วยมีผัสสะมาก คนดูแลควรทำอย่างไร ในเรื่องของจิตใจทั้งผู้ป่วยและคนดูแล

หลัก ๆ ที่ควรจต้องมี คือ ผู้ดูแลต้องมีเมตตา ทำโดยไม่หวังอามิสหรือความพึงพอใจใด ๆ เช่น มรดก ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น อีกทั้งต้องสามารถพูดหรือสื่อสาร มีกุศโลบายทำให้ผู้ป่วยอาจหาญร่าเริงได้ และมีกำลังใจสูง ไม่หดหู่ ห่อเหี่ยวในเวทนาที่เกิดจากความเจ็บป่วยนั้น

Q6: ต้องการทราบถึงหัวข้อธรรมะที่ทำให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะ

จุดนี้สำคัญ ตรงที่การรักษาจิตใจของเราก่อน เพราะได้ชื่อว่ารักษาทั้งตนเองและรักษาผู้อื่นด้วย นั่นคือต้องมีความเมตตา มองกันด้วยสายตาที่มีความรักใคร่กันเป็นอยู่ ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ไม่อาฆาตพยาบาทปองร้าย และไม่เพ่งโทษผู้อื่น เพราะการมองหาความไม่ดีจากตัวผู้อื่น นั่นคือเกิดความไม่ดีขึ้นแล้วในจิตใจของเราเอง จึงเป็นการเกิดผลเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในบางครั้งอาจจะพบเจอคนพาล ให้ระลึกไว้เสมอว่าคงเป็นความไม่คุ้มค่าที่จะลดระดับความดีของเราไปแลกกับความไม่ดีของเขาที่หยิบยื่นให้

Q7: ต้องการทราบว่า ถ้าเป็นพระปฏิบัติ แต่ไม่ออกบิณฑบาตร เมื่อถึงวันพระก็ออกมาบ้าง แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยออกมา จะผิดวินัยของสงฆ์หรือไม่ 

ไม่ผิดวินัยของสงฆ์ เพราะตามวินัยของสงฆ์นั้น พระภิกษุสามารถออกบิณฑบาตรด้วยตนเอง หรือจะรับอาหารในที่ที่มีผู้นิมนต์ไว้ด้วยความศรัทธาก็ได้

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต S02E16 , เข้าใจทำ (ธรรม) S08E16  , #การประดิษฐานแก่บิดามารดา