ก่อนอื่น ขอประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดรายการธรรมะรับอรุณ ในแบบ Live สด โดยจัดมีขึ้นที่ สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย (สวท.) ในวันที่ 25 – 26 มกราคม 2563  ซึ่งรับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ในเอพิโสดนี้

Q1: พิมพ์ด่า+พิมพ์โกหก กับ พูดด่า+พูดโกหก รับผลกรรมเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร

พระธรรมทินนาเถรี กล่าวไว้ว่า “บุคคลตรึกตรองแล้วค่อยเปล่งวาจา” หมายถึง เมื่อคิดอย่างไรจึงแสดงออกไปอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียนก็ตามทั้งที่เป็นการชมและการตำหนิ ด่าว่า เพียงแต่เป็นการกระทำที่มีทวารต่างกันเท่านั้น

ความหนักเบาของผลกรรมนั้น มาจากทางใจจะหนักที่สุด หนักมากกว่าทางกายหรือวาจา เพราะเรามีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทั้งนี้เปรียบ เจตนาในการกระทำนั้น ๆ เสมือนรอยกรีดบนน้ำ บนทราย และบนหิน

เมื่อมีการใช้ Social Media กันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้การสื่อสารข้อความต่าง ๆ แพร่กระจายออกไปได้ง่าย รวดเร็ว และไกลขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การเบียดเบียนหรือการสร้างบาป อกุศลธรรมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

Q2: ถ้าเรารู้หรือได้ยินคำที่มีใครคนหนึ่งเขาว่าคนอื่น แล้วมีอีกคนมาถามว่าเราได้ยินอย่างนี้ ๆ หรือไม่ เราควรจะตอบตามความจริงว่าเราได้ยินมาอย่างนี้หรือจะไม่ตอบ หรือควรจะอย่างไร

การพูดจาสื่อสารควรยึดหลัก “สัมมาวาจา” ซึ่งประกอบด้วย 3 ลักษณะคือ ไม่พูดโกหก, ไม่พูดส่อเสียดเพื่อยุยงให้แตกกัน, และไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ในทางตรงกันข้าม หากการพูดวาจาตรงแล้วทำให้เกิดการแตกแยก การใช้คำพูดสวยหรูแต่ทิ่มแทงใจผู้ฟัง พูดกล่าวโทษเพราะคิดไปเองหรือไม่มีหลักฐานอ้างอิง เราก็ไม่ควรพูด ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นหรือสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง นั่นเอง และยังเป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นอีกด้วย

การตอบปัญหาของพระพุทธเจ้าแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ ตอบตรงไปตรงมา มีการตอบที่ตายตัว, มีการถามย้อนกลับ แล้วจึงตอบ, มีการตอบที่แยกแยะแจกแจงเพิ่มเติมรายละเอียด ตามบริบทในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป, นิ่ง ไม่ตอบเลย เพราะเป็นคำถามที่ตอบแล้วจะทำให้เกิดความสับสน ไม่ชัดเจน หรือจะสามารถทำให้ตกหลุมแห่งทิฏฐิต่าง ๆ ได้

Q3: คนส่วนใหญ่กลัวตายเพราะอะไร และทำอย่างไรจึงจะไม่กลัวตาย

คนส่วนใหญ่มักจะกลัวตายด้วยหลาย ๆ สาเหตุด้วยกัน เราสามารถเปลี่ยนความกลัวตายให้เป็นความไม่กลัวตายได้ โดยการตั้งไว้ซึ่งหิริและโอตตัปปะ (ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป) ที่จะทำให้เรามีความเข้าใจและมีทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้อง โดยแยกตามแต่ละสาเหตุ ได้แก่ กลัวตายเพราะกลัวสูญเสียความสุขที่เคยได้รับตอนมีชีวิตอยู่, กลัวเจ็บ, กลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก, และกล้วว่าตายแล้วไปไหน

อย่างไรก็ตาม หากกลัวสิ่งใด ให้เข้าหาสิ่งนั้นด้วยจิตที่เป็นสมาธิ จะทำให้ความกลัวค่อย ๆ คลายความกลัวลงได้ และหากกลัวตาย ก็ให้ระลึกถึงมรณะสติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการละบาป ละอกุศลธรรม และระลึกถึงกุศลธรรมได้มากขึ้น

Q4: การนําหลักธรรมมาใช้ปฏิบัติตน เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขหรือขจัดปัญหาข้อขัดแย้ง มีหรือไม่ อย่างไร

หลักธรรมระงับความขัดแย้งที่สำคัญและได้ผลมากที่สุดคือ “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก” ซึ่งจะต้องนำไปใช้และปฏิบัติกับทุกคน ทุกฝ่าย ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก เราสามารถแผ่เมตตาให้ได้อย่างกว้างขวาง อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งต้องไม่มีความคิดแบบผูกเวรหรือมีอกุศลใด ๆ เลย

และกรรมของการผูกโกรธกัน จะทำให้ได้รับผลไปเกิดในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต ไปในที่ที่ไม่ดี

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มพธิบท S07E60