ความต่างกันของเจโตวิมุติ มาใน อนุรุทธสูตร (๑๒๗) ปรารภช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะได้อาราธนาให้ท่านไปฉันที่บ้านของตนแล้วถามปัญหาในเรื่อง เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ และ เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ซึ่งพระอนุรุทธะได้ย้อนถามช่างไม้ว่า เข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร ช่างไม้ตอบว่าเขาเข้าใจว่าธรรมะ 2 ประการนี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น
พระอนุรุทธะจึงได้อธิบายให้เขาเข้าใจโดยถูกต้องว่า ความจริงธรรมะ 2 ประการนี้ ต่างกันทั้งความหมายและพยัญชนะ และในการสนทนาธรรมครั้งนี้ ท่านยังกล่าวถึงเหตุ 4 อย่าง ที่ทำให้เมื่อตายแล้วไปเกิดในหมู่เทวดาเพิ่มเติมให้ด้วย
พระอภิยะ กัจจานะ ซึ่งรับนิมนต์ไปฉันด้วยกัน ก็ได้ซักถามต่อไปให้ลึกซึ้งขึ้นในเรื่อง คุณธรรมที่เป็นเหตุให้เทวดามีรัศมีต่างกัน พระอนุรุทธะได้ยืนยันว่าที่ท่านทราบโดยละเอียดอย่างนี้ ๆ เพราะท่านเคยอยู่ร่วม เคยเจรจาร่วม เคยสนทนาร่วมกับเทวดาเหล่านั้นมาแล้ว
อนุรุทธสูตร (๑๒๗)
[๔๒๒] อ. ดูกรคฤหบดี ธรรม ๒ ข้อนี้ คือ เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ ท่านพึงทราบประการที่ต่างกันนั้นโดยปริยายดังต่อไปนี้ ดูกรคฤหบดี ก็ เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ เป็นไฉน
ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ แผ่ไปตลอดทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยเมตตาอย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกสถาน โดยเป็นอัตภาพทั้งมวลอยู่ มีใจสหรคตด้วยกรุณา … มีใจสหรคตด้วยมุทิตา … มีใจสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ แผ่ไปตลอดทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยอุเบกขาอย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน โดยเป็นอัตภาพทั้งมวลอยู่ ดูกรคฤหบดี นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ ฯ
[๔๒๓] ดูกรคฤหบดี ก็ เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ เป็นไฉน ดูกร คฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะ อยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ฯ
ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะ อยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ฯ
ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะ อยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ฯ
ดูกรคฤหบดี อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพี มีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดนมหัคคตะ อยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ฯ
ดูกรคฤหบดี โดยปริยายนี้แล ท่านพึงทราบประการที่ธรรม ๒ ข้อนี้ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ ฯ
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ขุดเพชรในพระไตรปิฎก S01E12 ,