ได้ปรารภคฤหบดีหนุ่มชื่อ “ตปุสสะ” ที่ยังมีความคิดนึกไปในเรื่องของกาม ได้มาถามกับพระอานนท์ถึงเรื่องการทำสมาธินี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งสองจึงพากันไปเข้าเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดง อนุปุพพวิหาร 9 ว่าด้วยการเข้าออกสมาธิทั้ง 9 ขั้นที่ประณีตไล่ต่อกันขึ้นไปโดยลำดับ ได้แก่ 1) ปฐมฌาน 2) ทุติยฌาน 3) ตติยฌาน 4) จตุตถฌาน 5) อากาสานัญจายตนะ 6) วิญญาณัญจายตนะ 7) อากิญจัญญายตนะ 8) เนวสัญญานาสัญญายตนะ และ 9) สัญญาเวทยิตนิโรธ เหล่านี้คือ วิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของจิต 9 ลำดับ
อนุปุพพนิโรธ 9 (ความดับไปตามลำดับ) คือ
1. อามิสสัญญาหรือกามสัญญาของผู้เข้าปฐมฌานดับไป
2. วิตกวิจารของผู้เข้าทุติยฌานดับไป
3. ปีติของผู้เข้าตติยฌานดับไป
4. ลมอัสสาส ปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก) ของผู้เข้าจตุตถฌานดับไป
5. รูปสัญญาของผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌานดับไป
6. อากาสานัญจายตนสัญญาของผู้เข้าวิญญาณัญจายนตฌานดับไป
7. วิญญาณัญจายตนสัญญาของผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌานดับไป
8. อากิญจัญญายตนสัญญาของผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานย่อมดับไป
9. สัญญาและ เวทนาของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธย่อมดับไป
ได้แสดงวิธีการเข้าสมาธิในแต่ละขั้น ๆ ตรัสไว้ใน คาวีสูตร เปรียบเทียบเหมือนลักษณะที่โคปีนภูเขาลาดชัน เป็นลักษณะที่จะไล่ฌานสมาธิจากขั้นที่ 1 ไปจนถึงขั้นที่ 9 ได้
“…เปรียบเหมือนโคภูเขา ที่ฉลาดเฉลียว มีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ มันได้คิดว่า “จะเที่ยวไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป จะกินหญ้าที่ไม่เคยกิน จะดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม” ดังนี้ มันวางเท้าหน้า อย่างถูกต้อง แล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง มันก็สามารถไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยไป ได้กินหญ้าที่ไม่เคยกิน ดื่มน้ำที่ไม่เคยดื่ม และทั้งสามารถกลับมาสู่ที่ที่มันเคยยืน คิดทีแรกโดยสวัสดี ได้ด้วย. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
ข้อนั้นเพราะเหตุว่า โคภูเขานั้นเป็นโคฉลาดเฉลียว มีไหวพริบรอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะเที่ยวไปตามภูเขาอันขรุขระ, ข้อนี้ฉันใด; ในกรณีนี้ก็ฉันนั้น : เธอเป็นบัณฑิตมีไหวพริบ รอบรู้ทิศทาง ฉลาดเพื่อจะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่, เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้น ให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดี.
เธอคิดต่อไปว่า “ถ้ากระไร เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เราพึงเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญา และพึงเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌานอันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่ เป็นปกติสุข” ดังนี้ แล้วแลอยู่ เถิด” ดังนี้. เธอนั้น เมื่อไม่ข้องขัดอยู่กะตติยฌาน ก็เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และพึงเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่ อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” ดังนี้ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ แล้วแลอยู่; เธอเสพอย่างทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มาก ซึ่งนิมิตนั้น ตั้งทับซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นนิมิตอันตั้งไว้ด้วยดีฯ”
(โคภูเขาที่ฉลาดย่อมรู้จักจรดเท้าหน้าลงในที่อันมั่นคงเสียก่อนแล้วจึงค่อยยกเท้าหลัง จึงจะไม่พลาดกลิ้งลงมา; เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีความตั้งอยู่อย่างมั่นคงในสมาธิที่ถึงทับทีแรกเสียก่อน จึงค่อยยกเท้าหลัง เพื่อก้าวไปสู่สมาธิอันสูงขึ้นไป)
และได้เคยตรัส อนุปุพพวิหารอาพาธ ไว้กับพระอานนท์ ว่าด้วยเรื่องความเป็นอาพาธของสมาธิในแต่ละขั้น ด้วยอาการที่อารมณ์อันละได้ด้วยฌานใด จะมากลายเป็น สัญญาที่ทำความอาพาธให้แก่การเข้าอยู่ในฌานนั้น ดังนี้
1. อดีตกามสัญญา ที่ปฐมฌานละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในปฐมฌาน.
2. อดีตวิตักกธัมมสัญญา ที่ทุติยฌานละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในทุติยฌาน.
3. อดีตปีติสัญญา ที่ตติยฌานละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในตติยฌาน.
4. อดีตอุเปกขาสุขสัญญา ที่จตุตถฌานละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในจตุตถฌาน.
5. อดีตรูปสัญญา ที่อากาสานัญจายตนะละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธ แก่การเข้าอยู่ในอากาสานัญจายตนะ.
6. อดีตอากาสานัญจายตนสัญญา ที่วิญญาณัญจายตนะละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในวิญญาณัญจายตนะ.
7. อดีตวิญญาณัญจายตนสัญญา ที่อากิญจัญญายตนะละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่
8. อดีตอากิญจัญญายตนสัญญา ที่เนวสัญญานาสัญญายตนะละแล้ว จะมาคอยเป็นอาพาธ แก่การเข้าอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
9. อดีตเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ที่ระงับไปแล้วเพราะสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่อาจมาเป็นอาพาธแก่การเข้าอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ).ปัญญาสติกับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ
“ในความสุขที่เกิดจากสมาธิ ถ้าไล่มาจากเรื่องของกาม กามสุขคือความสุขที่ได้จากทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ให้ความสุขได้อยู่ แต่ความสุขที่เกิดขึ้นจากในทางกามนี้มันมีน้อย และโทษของกามนั้นก็มาก แต่สิ่งที่จะเหนือขึ้นไปกว่าความสุขในทางกามก็คือเรื่องของฌานสมาธิ” และในตอนต่อไปจะได้เสนอเพิ่มเติมในเรื่องของอุปสรรค 11 อย่าง ที่มันจะมากั้นไม่ให้จิตของเราเลื่อนขึ้นไปในสมาธิแต่ละขั้นได้ เหมือนกับแม่โคปีนภูเขาตรงที่บางจุดมันชันมาก จะทำอย่างไร?