ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ มีลักษณะคือ ต้องเป็นไปเพื่อการเกิดใหม่ (สภาวะ) กำหนัดและยินดีคล้อยตามไปตามอารมณ์ ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ทั้งตัณหาและอวิชชาจะทำงานควบคู่กันและเป็นเหตุทำให้เกิดกิเลสต่อไป โดยตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้ เปรียบเสมือนช่างเชื่อม ส่วนอวิชชาจะเป็นเครื่องปกปิดรอยต่อที่เกิดจากการเชื่อมนั้น ๆ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า “ตัณหาต้องละ แต่มรรคต้องเพียร” ซึ่งการมีความเพียร ทำให้มาก เจริญให้มาก ในศีล สมาธิ ปัญญา และอริยมรรคมีองค์แปด จะทำให้ตัณหาค่อย ๆ ลดลง จนสามารถละได้
อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายเดียวที่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เป็นทางที่มีศีล สมาธิ และปัญญา เป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) หมายถึง ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เป็นทางลัด เป็นทางตัดตรงและนำไปสู่พระนิพพาน
Q1: ตามหลักศาสนาพุทธ ตัณหาสามารถนำพาให้ไปเกิดในสุคติภพได้หรือไม่? ถ้าได้คือตัณหาประเภทใด? และอวิชชากับตัณหาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?
ทั้งตัณหาและอวิชชาจะเป็นเหตุทำให้เกิดกิเลสต่อไป ดังนั้นหากมีกิเลสมากจะทำให้ไปเกิดในทุคติภูมิได้ ในทางตรงกันข้ามกันหากมีกิเลสน้อยจะทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิแทน
สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แบบที่เกี่ยวเนื่องด้วยโลก(โลกียะ) ของหนักและอาสวะ และแบบที่เหนือโลก (โลกุตระ)
สัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ได้แก่
1. ทานที่ให้แล้วมีผลจริง 2. ยัญที่ทำแล้วมีผลจริง 3. การเซ่นสรวงหรือการบูชามีผลจริง 4. วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีผลจริง 5. โลกนี้มีจริง 6. โลกหน้ามีจริง 7. มารดามีคุณจริง 8. บิดามีคุณจริง
9. สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้นมีจริง และ10. พระอรหันต์ผู้ สามารถรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง
ตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้ เป็นช่างเชื่อม และอวิชชาจะเป็นเครื่องปกปิดรอยต่อที่เกิดจากการเชื่อมนั้นๆ เพื่อทำให้เรามองไม่เห็นรอยเชื่อมต่อเหล่านั้น จึงต้องเจริญตัณหาเพื่อละตัณหา
Q2: “ปฏิจจสมุปบาท” และ “อริยสัจสี่” เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร? หากเหมือนกัน ทำไมพระองค์ต้องแสดงสองแบบให้ซ้ำซ้อนกัน
ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า สิ่งที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ส่วน อริยสัจสี่ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ
Q3: มรรคมีองค์แปดคือ ข้อปฏิบัติแบบทางสายกลาง คำว่า “ทางสายกลาง” ในที่นี้จะอธิบายทีละองค์ว่าเป็นทางสายกลางได้อย่างไร?
ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เป็นทางลัด เป็นทางตัดตรงไปสู่พระนิพพาน ไม่ต้องเสียเวลาไปวน ไปอ้อม หรือไปพบทางตัน ทางสุดโต่งทั้งสองด้าน
ทางสายเดียวที่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง เมื่อต้องการอธิบายองค์ใดองค์หนึ่งในมรรคเป็นประเด็นหัวข้อ ให้ยกองค์ที่เหลือมาประกอบการอธิบายด้วยเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของการประกอบรวมกันเป็นทางสายกลาง (จาก 1 ให้ไป 8)
Q4: ในพระสูตรพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 8 สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีการอธิบายต่อจากอวิชชาไล่ไปจนครบอาการ 12 สุดที่ทุกข์ว่าปฏิจจสมุปบาทยังไม่จบแค่นั้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา–>ปราโมทย์–>ปิติ–>ปัสสัทธิ–>สุข–>สมาธิ–>ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง)–>นิพพิทา–>วิราคะ–>วิมุตติญาณทัสสนะ ทุกข์ทำให้เกิดศรัทธาอย่างไร? แบบไหน ศรัทธาทำให้เกิดปราโมทย์และปราโมทย์ทำให้เกิดปิติได้อย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผลของทุกข์มี 2 อย่าง คือ “บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์รวบรัดแล้วย่อมโศกเศร้า ย่อมระทมใจ คร่ำครวญ ตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหล หรือว่า ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์รวบรัดแล้วย่อมถึงการแสวงหาที่พึ่งภายนอกว่า ใครหนอย่อมรู้วิธี เพื่อความดับไม่เหลือของทุกข์นี้ สักวิธีหนึ่ง หรือสองวิธี” ดังนั้นทุกข์จึงเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งศรัทธา ซึ่งจุดนี้จะเป็นความแตกต่างระหว่างคนมีปัญญา(คนประเสริฐ)และคนโง่ ที่จะแสวงหาที่พึ่ง (สรณะ) หรือ ยังจมปลักหลงใหลอยู่ในความทุกข์นั้น
หากเรามีความมั่นใจศรัทธาในพุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วทำจริง แน่วแน่จริงในการเจริญสติ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้จิตมีความยินดี พอใจ ด้วยความเพียรที่ตั้งเอาไว้ จนทำให้กุศลธรรมเพิ่มขึ้นในขณะที่อกุศลธรรมลดลง จนถึงจุด ๆ หนึ่งจนทำให้ความสบายใจ อิ่มเอิบใจ หรือความปราโมทย์ ปิติเกิดขึ้น และทำให้เกิดความสงบระงับหรือปัสสัทธิขึ้นภายในใจ จากนั้นจิตจะรวมลงเป็นอารมณ์อันเดียวหรือสมาธิ ทำให้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความหน่าย คลายกำหนัด เป็นความพ้น ความแยกจากกัน เป็นวิมุตติ สามารถบรรลุธรรมและเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร Ep.50 , ตามใจท่าน Ep.53