เปรียบ สัมมาทิฏฐิ เป็นเหมือนรุ่งอรุณของกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว สัมมาองค์อื่น ๆ ก็จะตามมา และยังเป็นรุ่งอรุณของอริยสัจ 4 คือ ปัญญาความรู้ชัดตามความเป็นจริงที่ต้องมี 3 รอบ ในสัจจะ 4 ประการ

“สัมมาทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็นชอบ หรือ ความเห็นถูก ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งถูก แล้วอีกฝ่ายผิด แต่เป็นทิฏฐิที่จะทำให้กิเลสลดลงไปได้ แจกแจงแยกไว้ 2 อย่าง คือ ส่วนที่มีอาสวะ ยังเป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก ซึ่งจะทำให้ยังพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่ได้ และ ส่วนที่ไม่มีอาสวะเป็นชั้นโลกุตตระ ขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นอริยะ ต้องอาศัยปัญญา อาศัยญาณของคน ๆ นั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางจิต ที่ต้องอาศัยสัญญาคือความจำ เพราะสัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง

ปัญญาสัมมาทิฏฐิ จะสร้างขึ้น พัฒนาขึ้น นำเข้าสู่จิตใจของเราได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือ การมีเพื่อนดี มีการฟังพระสัทธรรม มีการทำในใจโดยแยบคาย มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือในบางครั้งความกลัวก็ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นได้ สัมมาทิฏฐิจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

“…ถึงมีระดับสัมมาทิฏฐิที่แตกต่างกัน แต่ในความที่มีแล้ว สามารถพัฒนาเป็นสัมมาทิฏฐิที่มากขึ้นได้ ด้วยความที่สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำสัมมาทิฏฐิเอง สัมมาทิฏฐิน้อย ๆ เปรียบเหมือนมีไฟกองน้อย ที่คนฉลาดเท่านั้น จะสามารถเปลี่ยนให้เป็นไฟกองใหญ่ได้”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) S07E28 , ใต้ร่มโพธิบท S08E17 , คลังพระสูตร S08E50 , ขุดเพชรในพระไตรปิฎก S06E06 , #สัมมาทิฏฐิ (ตอนที่ 2): รุ่งอรุณแห่งกุศลธรรม , #ทำสัญญาให้เป็นญาณ