ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้า จะสอนให้คนคิดอย่างมีเหตุมีผล โดยมีความคิดเป็นไปในทางของสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่การคิดแบบวิจิกิจฉา เคลือบแคลง เห็นแย้ง ไม่ลงใจ เพื่อหาข้อผิดหรือหาเหตุผลมาหักล้าง

พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำให้พวกเราทุกคนควรปฏิบัติตามคำสอนของท่านอย่างเป็นขั้นตอนตามทางของอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งให้ผลตามนั้นจริง ๆ และน้อมเข้ามาใส่ตน อย่างไรก็ตาม หากนำความรู้นั้นไปมอบให้กับคนที่ไม่รู้ เขาก็จะไม่เข้าใจความหมายในความรู้นั้น ๆ เพราะไม่ใช่ของที่จะให้กันได้ตรง ๆ แต่เป็นปัญญาหรือความรู้ที่จะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น

ดังเช่นพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้กับพระสารีบุตรว่า “เมื่อใดก็ตามที่เรา ตั้งไว้แล้ว ตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้, ระลึกแล้ว ระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้, ตั้งมั่นแล้ว ตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้, รู้ชัดแล้ว รู้ชัดแล้ว (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้, เราจะมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า ธรรมเหล่าใด เป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อน, ในบัดนี้ เราถูกต้องธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาชัดเจน”

ผู้ที่เกษียณอายุ จัดว่าเป็นผู้ที่ก้าวเข้าสู่ปัจฉิมวัย ถือเป็นจังหวะชีวิตที่ดีในการพิจารณาว่า เวลาต่อจากนี้เราควรจะทำอะไรเพื่อให้การใช้ชีวิตในโลกหน้าเป็นไปด้วยดี จึงควรจะระลึกถึงวิธีการสร้างบุญกุศลและสั่งสมบุญ โดยการให้ทาน รักษาศีล ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมให้เต็มที่อย่างมีแบบแผนที่ถูกต้อง อย่าประมาทหลงเพลิน จะทำให้การดำเนินชีวิตมีคุณค่าอย่างมาก

Q1: ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้คนคิดอย่างมีเหตุและผล ในทางพระพุทธศาสนาไม่แนะนำให้คิดเรื่องอจินไตย เพราะปกติวิสัยของคนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง และถ่องแท้ แต่ทำไมต้องสอนเรื่องอจินไตยด้วย จริง ๆ แล้วอจินไตยคืออะไร มีขอบเขตความหมายอย่างไร

“อจินไตย” หมายถึง เรื่องที่ไม่ควรคิด เพราะหากคิดแล้วจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า ฟุ้งซ่าน คิดนอกแนว เนื่องจากเป็นเรื่องของสิ่งที่เหนือเหตุเหนือผล เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชนแบ่งเป็น 4 อย่างได้แก่
ฌานวิสัย คือวิสัยแห่งอิทธิฤทธิ์ของผู้ได้ฌานสมาธิ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ดำดินได้ หรืออ่านวาระจิตของผู้อื่นได้
พุทธวิสัย คือวิสัยแห่งความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
กรรมวิสัย คือวิสัยของกฎแห่งกรรมและวิบากกรรม เป็นการให้ผลของกรรมที่สามารถติดตามไปได้ทุกชาติ
โลกวิสัย คือวิสัยแห่งโลก คือการมีอยู่ของสวรรค์ นรก และสังสารวัฏ

อจินไตย จึงเป็นเรื่องของเหตุผลที่ประกอบด้วยหลายขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นได้ หากยังพยายามคิดหมกมุ่นอยู่ จะเป็นช่องให้กิเลสแทรกได้ทันที ดังนั้นจึงไม่พึงคิดด้วยตรรกะ แต่ให้คิดเป็นไปในทางของสัมมาทิฏฐิอย่างมีปัญญาและศรัทธาควบคู่กันไป

Q2: ต้องการทราบคำอธิบายของประโยคที่ว่า “จิตใหม่เกิดขึ้น เพราะจิตเก่ามีความอยาก”

ประโยคที่ว่า “จิตใหม่เกิดขึ้น เพราะจิตเก่ามีความอยาก” นี้ไม่ใช่พุทธพจน์แน่นอน แต่สามารถวิเคราะห์ไปในแนวทางที่สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าได้นั่นคือ หลักของปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง “…เพราะมีกิเลส ตัณหา อวิชชาจึงทำให้มีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงทำให้มีภพ เพราะมีภพจึงมีการเกิด” ซึ่งหมายถึง จิตของเราเกิดหรือก้าวลงไปในสิ่งต่าง ๆ

Q3: คำว่า “ปัจจัตตัง แปลว่า รู้ได้เฉพาะตน” ตีความหมายตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้กว้างเพียงใด ใช้กับสถานการณ์ใดได้บ้าง

คำว่า “ปัจจัตตัง” นัยยะแรก ปรากฏในบทสวดสรรเสริญคุณของพระธรรมที่ว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” แปลว่า วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ซึ่งมีนัยยะที่หนึ่งคือ พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่สุดของคนดี คนประเสริฐ ที่จะรู้ได้ในมาตรฐานความดีของพระธรรม

“ปัจจัตตัง” นัยยะที่สองคือ ผู้ใดที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นขั้นตอน น้อมเข้ามาใส่ตน ก็จะรู้ได้เฉพาะตนและเป็นวิญญูชนด้วยเช่นกัน

“ปัจจัตตัง” นัยยะที่สามคือ หากนำความรู้นั้นไปมอบให้กับคนที่ไม่รู้ เขาก็จะไม่เข้าใจความหมายในความรู้นั้นๆ เพราะไม่ใช่ของที่จะให้กันได้ตรงๆ แต่เป็นปัญญาหรือความรู้ที่จะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น

“ปัจจัตตัง” นัยยะที่สี่คือ ไม่เพียงเกิดจากการอ่านจากตำราเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติมาตามทางของอริยมรรคมีองค์แปด ให้ผลตามนั้นจริงๆ และน้อมเข้าสู่ตน

Q4: หากต้องการดับทุกข์ในใจของเราให้ได้ ต้องปฏิบัติธรรมอย่างไร มากน้อยเพียงใด และมีวิธีวัดความก้าวหน้าอย่างไร

ต้องมีปัญญาในการปล่อยวาง เห็นตามความเป็นจริง ไม่เอาทุกข์มาเป็นของเรา กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ จนกระทั่งความทุกข์จะเบาบางลงเรื่อย ๆ ซึ่งเราต้องปฏิบัติธรรมตามแนวทางของอินทรีย์ห้า อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดความแก่กล้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

วิธีวัดความก้าวหน้า คือ เราจะรู้ได้ เกิดความรู้ขึ้น มีสติและสมาธิเกิดจากการปฏิบัติ อีกทั้งอกุศลธรรมจะลดลง ๆ ในขณะเดียวกันกุศลธรรมจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ