…สองอย่างนี้เราต้องปรับ ถ้าบางคนชอบการพิจารณา ให้พิจารณาก่อนแล้วค่อยทำจิตให้สงบ คือการพิจารณาไปในทางที่ถูกแล้ว จิตมันจะสงบเองได้ หรือถ้าพิจารณาไปแล้วเริ่มฟุ้งขึ้น อันนี้ให้เป็นฐานต้องฝืนทำจิตตั้งจิตให้สงบลงให้ได้ มีอันใดอันหนึ่ง ให้เอาตัวที่ตัวเองมีนั่นแหละเป็นพื้นฐาน ฝึกให้ทั้งสองอย่างนั้นมีอยู่ในจิตใจของเรา
แยกแยะระหว่างความสงบด้วยส่วนหนึ่ง แยกแยะรู้จักการพิจารณาด้วยส่วนหนึ่ง แยกแยะออกเป็นเบื้องต้นนี้แล้ว เราต้องดูให้เห็น เพิ่มเติมส่วนที่ขาด ตั้งไว้ในส่วนที่มันดี เพิ่มเติมแล้วบางทีมันไม่เสมอกัน ก็ปรับอีก ทำซ้ำไปย้ำมา สลับไปสลับมา มันไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะจิตมันมีความกลับกลอก เปลี่ยนแปลงไปตามการรับรู้ เราต้องฝึกมันปรับเปลี่ยนมัน…กลับมาที่ลม แล้วดูคิว
ทำสลับไปสลับมา ทำให้มีความชำนาญ ทำให้มีความลึกซึ้งแยบคาย ทำไปเพื่อดัดจิตให้มันตรง เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้ ไม่ใช่แค่ความสุขธรรมดา แต่เป็นความสุขที่เกษม เป็นบรมสุข เป็นนิพพานสุข
ยุคนัทธกถา
[๕๓๘] ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปอย่างไร ฯ ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยอาการ ๑๖ คือ ด้วยความเป็นอารมณ์ ๑ ด้วยความเป็นโคจร ๑ ด้วยความละ ๑ ด้วยความสละ ๑ ด้วยความออก ๑ ด้วยความหลีกไป ๑ ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ๑ ด้วยความเป็นธรรมประณีต ๑ ด้วยความหลุดพ้น ๑ ด้วยความไม่มีอาสวะ ๑ ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ๑ ด้วยความไม่มีนิมิต ๑ ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ๑ ด้วยความว่างเปล่า ๑ ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน ๑ ด้วยความเป็นคู่กัน ๑ ฯ
…
[๕๔๓] เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ฯลฯ เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นทุกข์ เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นอนัตตา เมื่อภิกษุมนสิการเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา โอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงความพอใจว่า ความพอใจเป็นธรรม เพราะนึกถึงความพอใจนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งชราและมรณะอันปรากฏโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้น จิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ อนุสัยย่อมสิ้นไป อย่างนี้ ใจที่นึกถึงความพอใจอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้อย่างนี้ ฯ
จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวเพราะโอภาส ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ ปัคคาหะ อุปัฏฐานะ ความวางเฉยจากความนึกถึงอุเบกขา และนิกันติ ภิกษุนั้นกำหนดฐานะ ๑๐ ประการนี้ ด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความนึกถึงโอภาสเป็นต้นอันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน และย่อมไม่ถึงความหลงใหล จิตกวัดแกว่ง เศร้าหมอง และเคลื่อนจากจิตภาวนา จิตกวัดแกว่ง เศร้าหมอง ภาวนาย่อมเสื่อมไป จิตบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง ภาวนาย่อมไม่เสื่อม จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เศร้าหมอง และไม่เคลื่อนจากจิตภาวนาด้วยฐานะ ๔ ประการนี้ ภิกษุย่อมทราบชัดซึ่งความที่จิตกวัดแกว่งฟุ้งซ่าน ถูกโอภาสเป็นต้นกั้นไว้ ด้วยฐานะ ๑๐ ประการฉะนี้แล ฯ