ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระปฏาจาราเถรี (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 238)
ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม และความเป็นเอตทัคคะ 

พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ทรงพระวินัย 

นางปฏาจารา เป็นธิดาของเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี ได้หนีตามชายรับใช้ออกจากเรือนไป เรื่องเกิดขึ้นเมื่อนางก็ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 ในเวลาใกล้คลอดจึงหนีสามีกลับบ้าน แต่ในระหว่างทางนั้นเองนางได้สูญเสียสามีและบุตรทั้งสองคนไป พอยั้งสติได้เดินร้องไห้เข้าสู่เมืองสาวัตถี ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งว่า ลมฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลายและเจ้าของเรือนก็ตายไปด้วย นางปฏาจาราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กันไม่อาจตั้งสติได้ สลัดผ้านุ่งทิ้งแล้ววิ่งบ่นเพ้อด้วยร่างกายอันเปล่าเปลือยเข้าไปยังพระวิหารเชตวันในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท  ผู้คนต่างเห็นนางแล้วร้องห้ามอย่าให้คนบ้านั้นเข้ามา แต่พระพุทธเจ้ารับสั่งปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัส อนมตัคคปริยายสูตร เตือนสติ จนนางคลายความโศกเศร้า กลับได้สติดังเดิม 

“น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของคนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น; เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า? แม่น้อง.”

และได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า มีกำลังใจขึ้นมา บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุณี

“บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดาก็ไม่มี ถึงพวกพ้องก็ไม่มี, เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี; บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล  พึงชำระทางไปพระนิพพานโดยเร็วทีเดียว. 

หลังจากบวชแล้วไม่นาน พระปฏาจาราเถรี ได้ตักน้ำจากหม้อสำหรับบรรจุน้ำล้างเท้ามาล้างเท้าของตน เมื่อเทน้ำราดเท้าครั้งหนึ่งน้ำไหลจากหลังเท้าลงดิน ซึมแผ่ออกไปแล้วก็หมดลง ตักอีกแม้ครั้งที่ 2 ครั้งที่สาม 3 ก็เช่นเดียวกัน จึงได้เปรียบเทียบชีวิตของตนเหมือนน้ำล้างเท้า น้ำแผ่ซึมครั้งแรกเหมือนชีวิตลูกน้อยของตนเกิดและอยู่ในโลกไม่ทันไรก็หยุดเคลื่อนไหวตายจากโลก น้ำแผ่ซึมครั้งที่สองเหมือนอดีตสามีกำลังหนุ่มก็ตายจากโลกเพราะถูกงูกัด และน้ำซึมแผ่ครั้งที่สามเหมือนบิดามารดาและพี่ชายตายเมื่ออายุมาก เมื่อท่านพิจารณาเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรมตรัสรับรองความคิดของท่านว่าถูกต้องแล้ว นางได้พิจารณาตามไป ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

“ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.”

หลังจากนั้นท่านได้นำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและประสบการณ์ของท่านมาสอนภิกษุณีและเหล่าสตรีทั้งหลายที่มีปัญหาในชีวิตอยู่เสมอ และท่านมีความสนใจในพระวินัยเป็นพิเศษ ตั้งใจศึกษาจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงได้รับตำแหน่งเอตทัคคะในผ่ายผู้ทรงพระวินัย 

ครุธรรม 8 ประการ
ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว 100 ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น
ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือ ถามวันอุโบสถ 1 เข้าไปฟัง คำสั่งสอน 1 จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย
ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง 3 คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ
ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ 2 ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม 6 ประการครบ 2 ปีแล้ว
ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี 

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.36 , ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก Ep.34