“ปฏิปทา” แปลว่า ทางดำเนิน ข้อปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ ความประพฤติ ในทางธรรมเพื่อบรรลุคุณวิเศษ คือ มรรคผล นิพพาน มักปรากฏต่อท้ายคำอื่นๆ เช่น มัชฌิมาปฏิปทา ทุกขนิโรธปฏิปทา เป็นต้น ส่วนปฏิปทาในทางโลกมักถูกนำมาใช้ในความหมายว่าความประพฤติ และใช้กับความประพฤติที่ดีงาม ไม่ใช้กับความประพฤติที่ไม่ดี เช่นว่า “เขาเป็นคนมีปฏิปทาอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว” หมายความว่าเขาเป็นคนมีความประพฤติที่ดี เช่น ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีอัธยาศัยดี หรือมีอุปนิสัยใจคอตามที่แสดงออกมาเช่นนั้น

ปฏิปทาแบ่งออกเป็น 4 ประการดังนี้

ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า กว่าจะบรรลุธรรมพิเศษก็ใช้เวลานาน เช่น พระจักขุบาล เลือกทำวิธีบำเพ็ญเพียรโดยไม่นอนตลอด 3 เดือนจนตาบอด จึงบรรลุอรหัตตผล

ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เช่น พระโสณโกฬิวิสะ เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก, พระปูติคัตตะบำเพ็ญเพียรในขณะอาพาธได้รับความลำบากโดยเอาทุกขเวทนามาพิจารณาจนบรรลุพร้อมทั้งนิพพานไปด้วย เรียกว่า “ชีวิตสมสีสี” ดับจิตสังขารพร้อมกิเลส

สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า เช่น พระจูฬปันถกถูกพระพี่ชายให้ปฏิบัติวิธีที่ไม่ถูกจริตจึงไม่บรรลุ ตราบได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าให้บำเพ็ญเพียรโดยลูบคลำผ้าขาวไปเรื่อยๆก็บรรลุได้

สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว เช่น พระพาหิยทารุจีริยะ ปฏิบัติตามพระธรรมเทศนาที่พุทธองค์ตรัสก็บรรลุที่ตรงนั้นเลย