เรื่องราวใน 3 พระสูตรที่ยกขึ้นมานี้ เมื่อนำมาประกอบกันแล้ว จะให้เห็นถึงเหตุปัจจัยที่เมื่อเราทำ เราสร้างแล้ว สามารถที่จะทำให้คนเราไปในที่ ๆ แตกต่างกันได้ ดังนั้นเมื่อทำความเข้าใจใคร่ครวญในเนื้อหาอย่างลึกซึ้งแล้วจะทำให้เราทราบถึงปฏิปทาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
“อิฏฐสูตร” ธรรมะ 5 ประการ (อายุ วรรณะ สุขะ ยศ สวรรค์) อันเป็นที่น่ารักน่าใคร่หาได้ยากในโลก จะไม่ได้ด้วยการอ้อนวอนด้วยการขอร้อง แต่ต้องได้ด้วยการกระทำ มีปฏิปทามีวิธีการมีวิธีทำ มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความเพลินใจ พึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในการทำบุญ บัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่าบัณฑิต เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้งสองนั้น ฯ
จึงยก “จูฬกัมมวิภังคสูตร” มาประกอบ เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสตอบปัญหาแก่สุภมานพ โตเทยบุตร ว่าด้วยเรื่องกฎแห่งกรรมที่ทำให้คนแตกต่างกัน ซึ่งมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้มี ที่ทำให้เป็น ในธรรมะ 5 ประการข้างต้น
ดูกรมาณพ ด้วยประการฉะนี้แล ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไป สู่ความเป็นคนมีอายุยืน ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเป็นผู้น่าเลื่อมใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนน่าเลื่อมใส ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย ปฏิปทา เป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก
ดูกรมาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรม เป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต ฯ
และปิดท้ายด้วยการให้ทาน ทำอย่างไรจึงจะมีผลมากได้ มาใน “ทักขิณาวิภังคสูตร” ปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมีที่มีประสงค์จะถวายจีวรผืนใหม่แก่พระพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ พระอานนท์ทูลขอให้ทรงรับไว้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ว่าด้วยเรื่องการจำแนกทานและผลแห่งทานดังนี้
(๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ (๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ (๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ (๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ (๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจาก ราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ใต้ร่มโพธิบท Ep.55, Ep.45 , Ep.33 , ตามใจท่าน Ep.61