“…คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะ (ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นความสงบอันประเสริฐอย่างยิ่ง) เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั้น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ดังนี้ กล่าวแล้ว ฯ ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว . . .ธาตุวิภังคสูตร”
พระพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้กับพระเจ้าปุกกสาติในหัวข้อ “ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในใจ 4 ข้อ” ได้แก่
ปัญญา อธิบายถึงความไม่ประมาทปัญญาในธาตุทั้ง 6 อย่าง รู้ชัดใน ธาตุทั้ง 6 อย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา”
สัจจะ คือความจริงอันประเสริฐ คือเรื่องของนิพพาน จึงเป็นสิ่งที่ต้องตามรักษา ทำให้แจ้งทำให้ถึงขึ้นมา รักษาได้โดยไม่ประมาทปัญญา
จาคะ ทิ้งความยึดถือคือสละกิเลสออกแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนทำให้มาก เราสละกิเลสออกได้มากเท่าไหร่ นั่นคือปัญญาของเราที่มี เราจะเข้าถึงสัจจะได้มากขึ้นเท่านั้น
อุปสมะ คือ จิตที่จาคะราคะ โทสะ โมหะหมดเลย นั่นคือความสงบราบคาบจากราคะ โทสะ โมหะ เป็นสุดยอดสันติ ที่กล่าวว่า สันติเป็นธรรมที่พึงศึกษา สันติก็คืออุปสมะ นั่นเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สวยงามดีมาก ๆ เพราะว่าพอแจกแจงออกมาแล้วปรากฏว่า มันเป็นเรื่องอย่างเดียวกัน ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ เป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ และพึงศึกษาสันติ อธิบายไปอธิบายมา มันมาจบลงรวมที่จุดเดียวกัน นั่นคือ สันติคือความที่ไม่มีกิเลส, จาคะคือการที่กำจัดกิเลสออก, สัจจะคือนิพพาน และปัญญาคือการเข้าใจตามความเป็นจริง ทั้งหมดเพื่อให้ถึงนิพพานเหมือนกัน
เป็นเรื่องราวที่เมื่อฟังแล้วต้องระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าว่า ท่านนั้นมีปัญญามากมายเหลือเกิน พอคนที่ฟังเรื่องนี้แจกแจงเรื่องนี้แล้ว จะอยู่ไม่ได้แล้ว กิเลสมันต้องตาย และถ้ามีความเข้าใจถึงระดับนี้แน่นอนว่าไม่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงลำบากด้วยเหตุแห่งธรรม แต่เป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องมาในทางที่ถูกต้องแล้ว สามารถที่จะตั้งธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ ไว้ในใจได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการแน่นอน
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร Ep.58 , เข้าใจทำ (ธรรม) Ep.61