เอพิโสดนี้ ได้ยกธรรมบทขึ้นมาประกอบในเรื่องของ “ธรรมะเพื่อบรรลุธรรม” ด้วยกันถึง 3 เรื่อง ซึ่งในเรื่องแรก เป็นเรื่องราวของภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา 500 รูป เมื่อไปทำความเพียรอยู่ป่า จิตไม่สงบเพราะถูกรุกขเทวดา ณ ที่นั่น แปลงกายเป็นผีมาหลอก พระพุทธเจ้าจึงแนะนำภิกษุให้สาธยายเมตตาสูตร เมื่อรุกขเทวดาได้ฟังแล้ว ก็กลับมีจิตเมตตา ได้ให้การต้อนรับและป้องกันอันตรายแก่เหล่าภิกษุนั้น เมื่อจิตสงบมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว จึงพิจารณาถึงความเสื่อมสิ้นไปของร่างกาย เป็นดังเช่นหม้อดินเผาที่เป็นของไม่เที่ยง สามารถแตกสลายได้ และเหล่าภิกษุนั้นต่างก็ได้บรรลุพระอรหัต

เรื่องที่ 2 ปรารภเรื่องของ ฉัตตปาณิอุบาสก พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมเป็นดังเช่นดอกไม้งาม ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมดาธรรมที่เราผู้ตถาคตกล่าวแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ฟัง ไม่เรียน ไม่ท่อง ไม่แสดง โดยเคารพ ดุจว่าดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่มีกลิ่นหอม ฉะนั้น. แต่ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ผู้ทำกิจทั้งหลายมีการฟังโดยเคารพ เป็นต้น”

และในเรื่องที่ 3 นั้น เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงไขปัญหา 4 ข้อ ให้แก่ท้าวสักกะและเหล่าเทวดาไว้อย่างแยบคาย ดังนี้ “บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม, บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด, บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ, ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต”