เวลาเราพูดเรื่องอะไรกันก็ตาม ธรรมะที่เราควรกำหนดรู้ คือเรื่องของทุกข์ คือเรื่องของขันธ์ห้า แยกแยะให้ดี พูดเรื่องอะไรแล้วให้มันเห็นถูกต้อง ธรรมะอะไรที่ควรจะละ คำตอบในที่นี้ก็คือ ตัณหา นั่นเอง

ตัณหาเป็นธรรมที่ควรละ ต้องแยกส่วนนี้ออกมา พูดเรื่องอะไรแล้วก็ตาม ฟังพิจารณาดูแล้ว ให้รู้ถึงธรรมะที่ควรรู้แจ้ง นั่นคือ นิโรธ นิโรธเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง คนที่ฟังแล้วกำหนดรู้เนื้อความต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ชื่อว่า เป็นคนฟังชนิดที่มีอุปนิสัยในการที่จะหยั่งลงสู่อมตะธรรมได้

เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลก เรื่องธรรมะหมวดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องเข้าถึงอุปนิสัยตรงนี้ ในการที่จะมารู้เรื่องอริยสัจสี่ให้ได้ กำหนดรู้ให้ได้ ละให้ได้ ทำให้แจ้งให้ได้ และการที่เราจะมารู้ยิ่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ จิตใจของเราต้องอยู่ในทาง จิตใจของเราต้องอยู่ในมรรค

มรรค คือ ทางที่จะให้เรามาเกิดความรู้ยิ่งได้ ลักษณะการพูดจาปราศัย การสนทนา การอภิปราย การประชุมกันของเหล่าพระอริยเจ้าจะเป็นอย่างนี้ คือ เป็นไปเพื่อประโยชน์ ไม่พูดจาเหลาะแหละ ไม่พูดทับถม ไม่จับผิด ไม่คอยแข่งดี ไม่เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นคำโปรยประโยชน์ทิ้งเสีย แต่เป็นคำที่ทำให้เกิดความรู้ ให้เกิดความเลื่อมใส