7 คำถามที่ควรตั้งเป็นคำถาม เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงจุดตรงประเด็น มาในพระสูตรว่าด้วย “การปฏิบัติเพื่อความสมดุลแห่งสมถะและวิปัสสนา”
ทั้งนี้ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ให้เราขยายผลออกไป ไตร่ตรองใคร่ครวญดูตัวเราว่า ในชีวิตประจำวันของเรานั้น การตั้งคำถามให้กับตัวเราเองนี้ มันถูกหรือไม่? เช่นว่า เราเจอเรื่องไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอ่างง่าย ๆ เราไปซื้อก๋วยเตี๋ยวแล้วเจอแมลงสาบอยู่ในนั้น หรือมีคนมาขับรถปาดหน้า เกือบชนกัน ทั้ง ๆ ที่ก็ขับมาดี ๆ ถ้าเราตั้งคำถามว่า ร้านนี้ทำไมมันทำห่วยขนาดนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ผิดตั้งแต่แรก คำตอบที่ออกมาก็จะผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปหมด
เพราะฉะนั้นการที่เราจะเพ่งจิตของเราไปให้มันถูกที่ถูกทางนั้น เราต้องจดจ่อไปในคำถามให้ถูก เวลามีสถานการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น คำถามที่ควรตั้งขึ้นก็คือ ฉันจะรักษาจิตของฉันในกรณีนี้ได้อย่างไร? ก็จะเริ่มมีคำตอบว่า คุณต้องตั้งสติขึ้น ใจเย็น ให้มีเมตตา มีการให้อภัย พอมีคนขับรถปาดหน้า โอ้ว! นี่เป็นโอกาสที่ฉันจะได้ให้แล้ว มีการให้ทานด้วยการให้ทาง แล้วถามว่าเราจะมีคำตอบแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็อยู่ที่ว่าการตั้งคำถามกับเหตุการณ์แบบนี้ สถานการณ์แบบนี้ เราจะสร้างกุศลธรรมขึ้นได้อย่างไร? คำถามจึงเป็นสื่งที่สำคัญมาก เราควรฝึกตั้งคำถามที่ถูกกับตัวเองใหม่ เหมือนเช่นตัวอย่างในพระสูตรเรื่องราวสมถะและวิปัสสนา
การปฏิบัติเพื่อความสมดุลย์แห่งสมถะและวิปัสสนา
ภิกษุ ท. ! ในบรรดาสี่จำพวกนั้น
1) บุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคล ผู้ได้อธิปัญญา ธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า ท่านผู้มีอายุ ! เราควรเห็นสังขารกันอย่างไร? ควรพิจารณากันอย่างไร? ควรเห็นแจ้งสังขารกันอย่างไร?
ดังนี้. ผู้ถูกถามนั้น จะพยากรณ์ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่มแจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุ ! สังขารควร เห็นกันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ, สังขารควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ได้ทั้ง เจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.
2) ภิกษุ ท.! บุคคลผู้ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาบุคคลผู้ได้เจโต สมถะในภายใน แล้วท่านถามว่า ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ (สณฺฐเปตพพฺ) อย่างไร? ควรถูกชักนำไป (สนฺนิยาเทตพฺพ) อย่างไร? ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว (เอกทิกตฺตพฺพ) อย่างไร? ควรทำให้ตั้งมั่น (สมาทหาตพฺพ) อย่างไร?
ผู้ถูกถามนั้น จะพยากรณ์ ตามที่ตนเห็นแล้ว แจ่ม แจ้งแล้วอย่างไร แก่บุคคลนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิต เป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่าง นี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้น ก็จะเป็นผู้ได้ทั้งอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาและเจโตสมถะในภายใน.
3) ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงเข้าไปหาผู้ได้ทั้งเจโต สมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา แล้วถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้อย่างไร? ควรถูกชักนำไป อย่างไร? ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียวอย่างไร? ควรทำให้ตั้งมั่นอย่างไร? สังขารเป็นสิ่งที่ควรเห็น อย่างไร?ควรพิจารณา อย่างไร? ควรเห็นแจ้งอย่างไร?” ดังนี้. ผู้ถูกถามนั้นจะพยากรณ์ ตามที่ตน เห็นแล้วแจ่มแจ้งแล้วอย่างไร? แก่บุคคลนั้น ว่า “ท่านผู้มีอายุ ! จิตเป็นสิ่งที่ควรดำรงไว้ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรถูกชักนำไป ด้วยอาการอย่างนี้ ๆ, ควรทำให้เป็นจิตมีอารมณ์ เดียว ด้วยอาการอย่างนี้ๆ, ควรทำให้ตั้งมั่น ด้วยอาการ อย่างนี้ ๆ; สังขารเป็นสิ่งที่ควรเห็นกันอย่างนี้ ๆ, ควรพิจารณากันอย่างนี้ ๆ, ควรเห็นแจ้งกันอย่างนี้ ๆ” ดังนี้. สมัยต่อมา บุคคลนั้น ก็จะเป็นผู้ได้ ทั้งเจโตสมถะในภายในและอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา.
4)ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ได้ทั้งเจโตสมถะในภายใน และอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา นั้น บุคคลนั้น พึงดำรงตนไว้ในธรรมทั้งสอง นั้น แล้วประกอบความเพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป. ภิกษุ ท. ! บุคคล 4 จำพวกเหล่านี้มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.
แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) E07S62 , #เหตุของปัญญาเริ่มด้วยคำถาม , #เพ่งอย่างยุติธรรม (เพ่งให้ถูกที่)