ปฏิบัติภาวนาด้วยการเจริญธัมมานุปัสสนาสติ โดยการระลึกถึงคุณพระธรรมของพระพุทธเจ้า

พิจารณา ”อาทีนวะ” คือ พิจารณาความเป็นโทษ

· โทษของกาม 10 ประการ คือ พระพุทธเจ้าทรงตรัสอุปมาโทษของกามไว้เพื่อให้ละความกำหนัด ยินดีในกาม และเห็นโทษของกามว่า

1. เหมือนสุนัขหิวแทะท่อนกระดูก คือ ยิ่งแทะ ยิ่งเหนื่อย อร่อยแต่ไม่เต็มอิ่ม มีความสุขเพียงชั่วครู่หากแต่ไม่อิ่มไม่พอ

2. เหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา คือ ต้องถูกแย่งชิงโดยนกกาตัวอื่น ต้องต่อสู้ปกป้องตลอดเวลา เกิดความเบียดเบียนเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา ต้องคอยระวังหวงกั้นไม่ให้สิ่งนั้นหายไป

3. เหมือนคบเพลิงหญ้า ถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้งไป มิฉะนั้นจะไหม้มือ แถมถูกควันไฟรมเอาตลอดเวลาที่ถือ

4. เหมือนหลุมถ่านเพลิง อันร้อนระอุ ไฟสุมอยู่ภายใน

5. เหมือนฝันดี ตื่นมาแล้วหาย

6. เหมือนของที่ยืมเขามาแล้วต้องคืน

7. เหมือนผลไม้บนต้นไม้ ใครจะมาเอาไปก็ได้ และยังต้องคอยดูแลให้ดี

8. เหมือนเขียงสับเนื้อ ยอมโดนโขกสับเพื่อแลกเศษเนื้อติดเขียง

9. เหมือนหอก และหลาวที่กลับมาทิ่มแทงเราได้

10. เหมือนหัวงูพิษที่โกรธเมื่อไรก็จะฉกเรากลับทันที

· โทษของขันธ์ 5 คือ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนของ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อให้เห็นโทษของขันธ์ 5 ไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่น

· ธัมมุทเทส 4 พิจารณาเห็นโทษของความเสื่อม 4 อย่าง เพื่อความไม่ประมาท

1. โลกอันนำชราเข้าไป ไม่ยั่งยืน: ความเสื่อมจากชรา เจ็บไข้ โภคะ ญาติ ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง

2. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน: พิจารณาคนที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ถึงเวลาก็ต้องชรา เจ็บป่วย ตาย ไม่มีใครเป็นใหญ่ตลอดกาล

3. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป: พิจารณาไม่มีอะไรในโลกเป็นของตน ต้องคืนกลับโลกไป

4. โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา: พิจารณาว่าปุถุชนไม่รู้จักอิ่มมีความอยาก มีตัณหาตลอดเวลา

เมื่อพิจารณาเห็นโทษของสิ่งต่างๆ อย่างนี้แล้ว ให้ปล่อย ละ วาง ความยึดถือในขันธ์ 5 คลายความกำหนัด ยินดี จิตใจเราก็จะประเสริฐถึงทางไปสู่นิพพานได้