เจริญอานาปานสติ โดยการสังเกต และตั้งสติไว้ที่ลมหายใจ ตั้งสติ คือ การแยกแยะ สังเกต จัดระเบียบความคิด ในช่องทางใจ

เปรียบเหมือนผูกสัตว์หกชนิด ไว้ที่เสา สัตว์หกชนิดเปรียบเหมือน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ผูกไว้กับ “เสา คือ สติ” เพื่อไม่ให้จิตไปเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ เผลอ เพลิน

การ “เสวยอารมณ์” ไปหลงคิดว่าเป็นความคิดของฉัน เป็นสุขของฉัน เป็นทุกข์ของฉัน เป็นตัวฉัน เพราะเข้าใจผิดคิดว่า ความนึกคิด จิต มโน วิญญาณ คือ สิ่งเดียวกัน คือ ก้อนเดียวกัน

หากแต่ พอ “สติมีกำลัง” จากการฝึกสังเกตบ่อยๆ จะก่อให้เกิดกระบวนการแยกแยะว่า ธรรมารมณ์ (ความคิดนึก) กับจิต ไม่ใช่อันเดียวกัน สังเกตุแยก “รูป-นาม” ได้ (สิ่งที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) โดยมีวิญญาณเป็นธาตุรู้ที่เชื่อมต่อสิ่งภายนอกเข้าสู่ใจ ผ่านทางช่องทางใจหรือมโน และมีจิตเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ไม่เสวยอารมณ์นั้นๆ เพราะแยกกันออกแล้ว “เราจึงแยกแยะ ธรรมารมณ์ จิต มโน วิญญาณ ได้ด้วย สติ”

พอมีการแยกแยะแล้ว จิตก็ “ระงับ ไม่สะดุ้ง-สะเทือน”ไปตามอารมณ์ นั่นคือ จิตเป็นสมาธิแล้ว