“ปฏิบัติธรรมแล้วเราจะต้องหลบโลก มันไม่ค่อยถูก โลกเนี่ยไม่ใช่ของที่เราจะต้องหลบ แต่ว่าโลกเป็นของที่เราต้องทำความเข้าใจ” 

Q: ปฏิบัติธรรมแล้วอยากหลีกออกจากโลก ควรปรับตัวปรับใจอย่างไรดี เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไม่รู้ร้อนรู้หนาว

A: ให้ดูตัวอย่างของท่านจิตตคฤหบดีที่มีคุณธรรมขั้นอนาคามี แต่ยังคงครองเรือน ทำหน้าที่ไปพร้อมกับการรักษาศีลแปดศึกษาธรรมะไปด้วย การที่จะอยู่ในโลกแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว คือ การไม่ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามผัสสะต่างๆ ที่มากระทบ ให้มีจิตอุเบกขา จิตที่มีอุเบกขาจะทำงานที่ชอบก็ได้ทำงานที่ไม่ชอบก็ได้ ส่วนที่ว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ให้มองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีมรรคแปดแทรกซึมอยู่มั้ย มีเผลอเพลินหรือขยะแขยงในงานนั้นมั้ย ถ้ามีคือเสียเวลา แต่ทำไปแล้วมีมรรคแปดในงานด้วย อันนั้นดี

Q: มือที่ไม่มีแผลจับยาพิษก็ไม่อันตรายเป็นอย่างไร

A: เหมือนกับคนที่รู้แล้วทำ บาปน้อยกว่าคนที่ไม่รู้ แล้วทำ เพราะจะมีความระมัดระวังมากกว่า  เช่นเดียวกันเมื่อรู้ว่าเป็นยาพิษการจับต้องก็จะระมัดระวัง เหมือนมียามเฝ้ารักษา มีความสำรวมอินทรีย์ไม่ประมาท

Q: ความสันโดษทำให้ขี้เกียจ?

A: สันโดษ คือ ความพอใจในสิ่งที่มี ได้มีอย่างไรพอใจอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ไม่ขวนขวาย คนละเรื่องกับความขี้เกียจหรือขยัน ความสันโดษจะทำให้คุณพอใจสบายใจ ไม่วุ่นวายใจ สันโดษต้องมีส่วนผสมของความเพียรและอิทธิบาท 4

Q: ด้วยเหตุอย่างไรคนจึงมีจิตรักกัน

A: อาศัยความเกื้อกูลกันในปางก่อนหรือในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นได้

Q: วิธีการก้าวล่วงกามคุณที่ล่วงมาแล้ว ทำอย่างไร

A: อันดับแรกเรื่องความเป็นอยู่ก็ปรับเปลี่ยนให้พอเหมาะให้เป็นไปตามธรรม ส่วนทางด้านจิตใจให้ตั้งสติสัมปชัญญะเอาไว้ให้มั่น

Q: การเห็นแบบบุคคลที่ 3 กับการเห็นแบบกลางๆ เหมือนกันหรือไม่

A: เหมือนกัน เพราะเป็นการไม่เข้าไปเกลือกกลั้วในสิ่งนั้นๆ

Q: วิธีรับมือเมื่อสูงอายุ

A: ควรเห็นให้ได้ในทุกวัย ในปัจฉิมวัยนี้เป็นวัยที่มีโอกาสเปิดโล่งแล้ว ร่างกายเข้าสู่ความตาย แต่จิตใจจะเข้าสู่ความไม่ตายได้มั้ย ให้มีจิตใจที่อยู่ในมรรค 8