“เย ธมฺมา เหตุปปฺภวาฯ” บทแห่งธรรมะที่พูดถึงเหตุแห่งความเกิดและความดับแห่งเหตุเหล่านั้น ปรารภพระอัสสชิเถระหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้แสดงธรรมอันย่นย่อของพระพุทธเจ้าให้อุปติสสปริพาชกฟัง จากที่ประทับใจในอิริยาบถสำรวมอันน่าเลื่อมใสของพระอัสสชิเถระเมื่อแรกเห็น ได้บรรลุพระโสดาบัน ขอบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว มีชื่อเรียกใหม่ว่าพระสารีบุตร

“สิ่งอะไรต่างๆ ก็ตาม มันต้องอาศัยเหตุเกิด สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม มันจะดับไปได้ มันก็ต้องอาศัยเหตุดับ” ใคร่ครวญลงไปในธรรมโดยปรารภคาถา

“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ

เตสํ เหตํุ ตถาคโต พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

เตสญฺจ โย นิโรโธ จ และความดับของธรรมเหล่านั้น

เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้”

ถ้าเหตุแห่งความเกิดขึ้นมีอยู่ เหตุปัจจัยแห่งความดำรงอยู่ยังมีอยู่ ขันธ์ 5 นั้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตั้งอยู่ได้ แต่ถ้าเหตุปัจจัยมีอยู่หายไปดับไป หรือเหตุปัจจัยของความดับมีเกิดขึ้น ขันธ์ 5 นั้นก็ต้องหายไปดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์ ทุกอย่างล้วนอาศัยเหตุและปัจจัยในการเกิดขึ้นและดับไป

เกิดปัญญาด้วยการใคร่ครวญลงไปในธรรม สิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดแต่เหตุ มีเหตุเกิดมีความดับ อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม รู้ตามอริยสัจ 4 จึงจะนับว่าเป็นวิชชา เหตุปัจจัยของวิชชาที่จะทำให้อวิชชาดับไปคือ โพชฌงค์7 สติปัฏฐาน 4เป็นเหตุให้เกิดโพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 เป็นเหตุให้เกิดวิชชา จะมีความพ้นจากอวิชชา ไล่ไปถึงนิพพานได้

จากคาถาเย ธัมมา ไล่ถึงอิทัปปัจจยตา ดังนี้

”อิมสฺมึ  สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี

อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะความดับแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: นิทานพรรณนา E02S08 ,  E02S07