“เวทนาใดๆ ก็ตาม เวทนานั้นๆ ประมวลลงในความทุกข์” ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสหมายถึง ความไม่เที่ยง ความเป็นของสิ้นไป ความเป็นของเสื่อมไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แห่งสังขารทั้งหลายนั่นเอง

เราปฏิบัติภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เพื่อให้เกิด “ปัญญา” เพื่อเอากุศล ไม่เอาอกุศล นั่งสมาธิไม่ได้เอา “สุขเวทนา”

ปุถุชนทั่วไป เทวดา สัตว์นรกต่างก็ “รักสุข เกลียดทุกข์” จิตเราจะ “เสวยเวทนา” ทั้งสุข ทุกข์อยู่ร่ำไปจากการ “คิดชั้นเดียว ไม่มีตา” การยึดเอาสุขเวทนาเป็นที่พึ่ง ยิ่งทำให้เราถูกพัดพาไปในกระแสแห่งตัณหา เราจะยิ่งเจอทุกข์มากขึ้น

แต่หากเราเริ่มจากศีลห้า เราจะคิดขึ้นไปอีกชั้น เลือกแต่กุศล นั่นคือ เรามีดวงตา มีปัญญาเพิ่มขึ้น แต่เราก็ยัง “ติดในสุข ทุกข์” มันก็ยังพ้นจากสุข ทุกข์ไม่ได้

เราต้องมีดวงตาที่สอง คือ มี “ปัญญา” เพื่อมองให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกขลักษณะมีในทั้งสุขและทุกข์ คือ ไม่เที่ยง ดังนั้น “เราไม่เอาเวทนาทั้งสุขและทุกข์” แต่เราจะ “เอากุศล ไม่เอาอกุศล” นั่นคือ เรามีปัญญา มีความผาสุกได้ทุกที่ คือ “อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์” ซึ่งเกิดจากจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เราเห็นได้ด้วยปัญญาว่า สิ่งที่เป็นที่พึ่งได้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สติปัฏฐานสี่ เอาศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแพ เป็นทาง คือ มรรคมีองค์แปดอย่างนี้ จะทำให้จิตเราผาสุก เย็น คือ ข้ามฝั่งไปนิพพานได้