เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนแก่ภิกษุผู้มีความกระสันอยากจะสึกทั้งหลาย ให้เห็นถึงโทษของกาม ให้มีการสำรวมระวังในตา หู จมูก ลิ้น และกาย จะทรงยกนิทานชาดกหรือนิทานธรรมบทขึ้นมาสาธกเพิ่มเติม จนเหล่าภิกษุนั้นต่างก็บรรลุธรรม สามารถสืบต่อพรหมจรรย์ต่อไปได้

ในเอพิโสดนี้ จึงได้ยกเรื่องราวของพระโพธิ์สัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น “นกยูงทอง” ที่แม้จะเจริญพระปริตรเพื่อป้องกันรักษาคุ้มกันตนให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายทั้งปวงแล้ว แต่ก็ยังพลาดท่าเสียทีหลงกลจนถูกจับตัวได้ ก็เพราะเหตุแห่งกาม ซึ่งมีเนื้อหาในตอนจบ 2 แบบ ที่มาใน โมรชาดก และ มหาโมรชาดก

“นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในราวป่า เพื่อดักพญานกยูงตัวเรืองยศ ครั้นดักพญานกยูงตัวเรืองยศได้แล้ว ก็ได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราพ้นแล้วฉะนั้น”…มหาโมรชาดก

“ข้าแต่มหาราช ธรรมที่ปรุงแต่งทั้งหมด ที่เหลือนอกจาก พระอมตมหานิพพานแล้ว ชื่อว่าไม่เที่ยง มีความสิ้นและความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี ดังนี้”…โมรชาดก

นอกจากนี้ ได้ยก คุมพิยชาดก และ ธรรมบทเรื่อง ภิกษุผู้ไม่ยินดี ขึ้นมาประกอบเสริม ให้เห็นถึง โทษของกาม เห็นวัตถุกามเป็นดั่งยาพิษ เหมือนกับที่ยักษ์ชื่อคุมพิยะเที่ยวหาเหยื่อของตน ด้วยการวางยาพิษอันมีสี กลิ่น และรสเหมือนน้ำผึ้งไว้ตามหนทาง และให้เห็นว่า ความอยากนั้นทำให้เต็มได้ยาก

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) S07E39 , คลังพระสูตร S08E15 , #นิวาปสูตร , #มารใช้กามเป็นเหยื่อล่อ