“ภิกษุ ท.! เมื่อศีลของเธอบริสุทธิ์หมดจด ทิฏฐิของเธอไปตรงแล้ว, เธอจงอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จงเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ โดยวิธีทั้งสาม เถิด”…ภิกขุสูตร [๖๘๗]

พระพุทธเจ้าตรัสแจกแจงสอนสติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งให้เกิดสติ) ซึ่งเป็นธรรมอันเอกนี้เพื่อให้เกิดการทำการปฏิบัติ ใช้ในการตั้งสติ ดำรงสติขึ้นไว้เฉพาะหน้า แล้วมาระลึกนึกถึง พิจารณามาใน 4 หัวข้อนี้ในลักษณะที่เป็นสัมมาสติ ให้เป็นลักษณะที่ความเพ่งเล็ง (อภิชฌา) และความเศร้าหมองใจ (โทมนัส) จะตั้งอยู่ไม่ได้ ให้กำจัดออกไปจากใจให้ได้
เห็นกายในกาย พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้ ที่ประกอบกันด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม มีถุงหนังห่อหุ้ม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด
เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พิจารณาเห็นเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดจากผัสสะ โดยมีการรับรู้ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มีการปรุงแต่งเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือเป็นอทุกขมสุขเวทนา
เห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นจิตที่ถ้ามีความนึกคิดมีความวิตกแล้ว มีราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้น เป็นจิตวุ่นวาย เป็นกังวล ฟุ้งซ่านขึ้น มีความกำหนัดยินดีไปในกาม หรือเป็นจิตที่สงบ เป็นอารมณ์อันเดียว
เห็นธรรมในธรรม พิจารณาในข้อธรรมะต่าง ๆ ส่งเป็นกระแสธรรมให้เห็นไปตามความเป็นจริงในธรรมะนั้น ๆ

ให้ฝึกทำฝึกพิจารณาในแต่ละหัวข้อข้างต้น โดย ทำในวิธีการ 3 อย่าง คือ อันเป็นภายใน (เห็นภายในกายของเรา), อันเป็นภายนอก (เห็นสิ่งภายนอกที่ออกนอกกรอบกายของเราไป) และอันเป็นทั้งภายในทั้งภายนอก (เห็นทั้งสองอย่าง)  ฝึกพิจารณาให้ชำนาญทั้งในภายในตัวเราเองก็ตาม ทั้งภายนอกของคนอื่นก็ตาม หรือทั้งภายในภายนอกสลับกันไปมา จะทำให้จิตใจของเรามีความกว้างขวางออกไป ให้เราตั้งสติของเราไว้อย่างนี้ ไม่ว่าจะทำอยู่ในที่สงบเงียบ ขณะทำกิจการงาน ขณะเดินทาง หรือขณะพูดคุยกัน ทำได้หมด ค่อย ๆ ปรับไปตามกระบวนการของมัน จะสามารถทำให้เป็นธรรมชาติอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งวัน