“สติที่ตั้งเอาไว้ จะทำให้จิตของเราที่เมื่อมีการรับรู้ความคิดนึก รับรู้เสียง รับรู้ภาพ รับรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ จะไม่ถูกกาม พยาบาท เบียดเบียนบุกรุกรบกวนเข้ามาเกิดขึ้นในจิตของเรา มันจะแยกกันออกไป จิตก็รวมลงเป็นสมาธิได้

สติจึงทำสมาธิให้เกิดขึ้น มีการรับรู้คือวิญญาณเกิดขึ้น ณ ที่ไหน ก็ต้องมีสติคือการระลึกได้ตั้งไว้ที่นั้น พอเรามีสติเข้าไปตั้งมั่นโดยชอบแล้ว สิ่งที่จะพึงหวังต่อไปได้ กล่าวคือ “จะเป็นผู้ที่กระทำได้แล้วซึ่งโวสสัคคารมณ์”  หมายถึง ความที่ตั้งมั่นแห่งจิต ความที่จิตเป็นอารมณ์อันเดียว ทั้ง ๆ ที่ก็มีความคิดนึกอยู่ เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ มีการปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ อยู่ บ้าง ก็ยังเป็นจิตที่เป็นสมาธิ

บุคคลที่มีสติตั้งไว้แล้วโดยชอบ มีจิตตั้งมั่นแล้วโดยดีแล้ว จะสามารถมีความรู้ชัดคือปัญญาอย่างนี้ว่า “สังสารวัฎมันเป็นสิ่งที่มีที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลาย อันบุคคลไปตามอยู่ รู้ไม่ได้ ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลาย มันจะไม่ปรากฎเลยแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่”

[๑๐๒๐] ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวก ผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัด อย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน…สัทธาสูตร ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: เข้าใจทำ (ธรรม) E08S07 , E07S59 , #เหตุเกิดจาก “สติอินทรีย์”