ยกหัวข้อว่าด้วยเรื่องของ บุคคล 4 จำพวก ขึ้นมา โดยสืบค้นกลับไปที่ตัวแม่บท หัวข้อนี้มีมาใน อุคฆฏิตัญญูสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสแบ่งบุคคลออกเป็น 4 จำพวก คือ 1) อุคฆฏิตัญญู ผู้ที่รู้เข้าใจได้ฉับพลัน เพียงแค่ยกหัวข้อขึ้นเท่านั้น  2) วิปจิตัญญู ผู้ที่รู้เข้าใจก็ต่อเมื่อขยายความโดยในรายละเอียด  3) เนยยะ ผู้ที่พอแนะนำต่อไปตามลำดับได้ และ 4) ปทปรมะ ผู้ที่รู้ได้เพียงแต่ตัวบท (พยัญชนะ) คือ ถ้อยคำเท่านั้นเอง ไม่อาจจะเข้าใจความหมายในรายละเอียดได้

โดยนัยยะเกี่ยวกับ บัว 4 เหล่า มีปรากฏในพระวินัยปิฎกตอนต้น ในส่วนของพุทธประวัติย่อ ๆ โดยนำเอาบุคคล 4 จำพวกข้างต้นมาเปรียบเทียบกับดอกบัว 4 เหล่าไว้ตรงนี้โดยลำดับว่าเป็นดอกบัวพ้นน้ำแล้ว, เป็นดอกบัวที่โคนดอกเสมอด้วยพื้นน้ำ, เป็นดอกบัวที่ยังอยู่ใต้น้ำ แต่ใกล้ที่จะโผล่พ้นน้ำแล้ว และสุดท้ายเป็นดอกบัวยังจมน้ำลึกอยู่ เป็นอาหารของเต่าปลาได้

และมีในพระบาลีที่เป็นพุทธประวัติเช่นกัน ซึ่งที่ครบถ้วนจะอยู่ใน โพธิราชกุมารสูตร ในคราวที่ตรัสรู้ใหม่ ๆ พระพุทธเจ้าทรงมีจิตน้อมไปในทางขวนขวายน้อยไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรม เดือนร้อนถึงท้าวสหัมบหดีพรหมได้มาทูลอาราธนาขอไว้ จึงได้เห็นแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อยบ้าง มากบ้าง ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี โดยอุปมาอุปไมยว่าด้วย ดอกบัว 3 เหล่า อยู่ในสระน้ำ มีดอกบัวบางเหล่าที่ 1) เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ 2) เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ 3) เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกต้องแล้ว พระพุทธองค์ทรงเห็นบุคคลมีความแตกต่างกันเช่นนี้

ในส่วนเพิ่มเติม ได้นำเรื่องของ นักพูด 4 จำพวก มาใน วาทีสูตร ได้แก่ 1) นักพูดที่จำนนต่ออรรถะ แต่ไม่จนต่อพยัญชนะ 2) นักพูดที่จำนนต่อพยัญชนะ แต่ไม่จนต่ออรรถะ 3) นักพูดที่จำนนทั้งต่ออรรถะและต่อพยัญชนะ 4) นักพูดที่ไม่จำนนทั้งต่ออรรถะและต่อพยัญชนะ…ในบรรดานักพูดซึ่งประกอบด้วยปฏิสัมภิทา 4 แล้ว จะเป็นไปไม่ได้เลยที่พึงจำนนทั้งต่ออรรถะและต่อพยัญชนะ

สรุป ผู้ที่มาศึกษาคำสอนจะต้องรู้ที่มาที่ไป นำมาเปรียบเทียบส่วนเหมือนส่วนต่างได้ ดังนั้นในการศึกษาวิเคราะห์จึงต้องจำแนกแจกแจงทั้งอรรถะและพยัญชนะด้วย จะทำให้ความรู้ของเรามีความกว้างขวางออกไป ประเด็นในที่นี้จะเห็นว่า คนเราไม่เท่ากัน ถึงแม้จะพยายามที่จะให้บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกันด้วยเหตุอย่างไร ๆ ก็ตาม คนก็ไม่เท่ากัน เพราะด้วยเหตุปัจจัยที่มีมามันแตกต่างกัน จะให้มาเท่ากัน นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ ถ้าเราจะแสวงหาความยุติธรรมไม่ว่าในบุคคลประเภทไหนก็ตาม มันก็จะมีความที่ต่างกันเหมือนกันอยู่ ความที่จะให้จบแล้วให้เหมือนกันไปหมด มันไม่มี มันจะมีส่วนที่เป็นความทุกข์ มีส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนกันแน่นอน แต่จุดที่จะให้เหมือนกันได้ เข้ากันได้โดยสนิท ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย คือ ที่ที่จะมีความดับ ที่ที่มีความเย็น ปฏิบัติตามมรรค 8 แล้วจะจบลงที่นิพพานได้