“เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย”

สิกขานิสังสสูตรกล่าวถึงเมื่อประพฤติพรหมจรรย์แล้ว จะมีผล 4 อย่างนี้เกิดขึ้น คือ 1. มีสิกขาเป็นอานิสงส์ แบ่งออกเป็นอภิสมาจาริกสิกขาและอาทิพรหมจริยกสิกขา เป็นการได้ฝึกทั้งส่วนที่เป็นมารยาททั่วไป และส่วนที่เป็นกุศลธรรมจริง ๆ 2. มีปัญญาเป็นยอด ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงเป็นไปเพื่อการสิ้นทุกข์ไปโดยรอบ เพื่อกำจัดกิเลส 3. มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นภาวะพ้นจากกัน ไม่ยึดถือในสิ่งนั้นอีก อาจจะชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เป็นการตัดได้ด้วยปัญญา 4. มีสติเป็นอธิปไตย สติเป็นใหญ่ตามสายงาน เป็นการรวม 3 ข้อข้างต้นมาในข้อนี้ เสยยาสูตรว่าด้วยการนอน 4 แบบ นอนแบบคนตาย คือ การนอนหงาย นอนแบบผู้บริโภคกาม คือ นอนตะแคงซ้าย เพราะคนคู่ต้องขยับเข้าหากัน นอนแบบราชสีห์ คือ นอนตะแคงขวาหรือด้านที่ถนัดเพื่อพร้อมที่จะลุก เป็นการประกอบตนอยู่ในเครื่องตื่น และการนอนอย่างตถาคต คือ การนอนในสมาธิ เข้าฌาน 1 – 4 ถูปารหสูตรกล่าวถึงบุคคลที่ควรสร้างสถูปให้ คือ พระพุทธเจ้า ปัจเจกพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าที่เป็นอรหันต์ และพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งบุคคลเมื่อทำความเคารพหรือระลึกถึง สถูปนี้จะเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ได้

(จตุกกนิบาต: อาปัตติภยวรรค ข้อที่ 245 – 247)