“เพราะว่า โลกมนุษย์ของเรามันมีทั้งสุขและทั้งทุกข์ พอ ๆ กัน บางทีก็สำเร็จ บางทีก็ไม่สำเร็จ ขึ้นชื่อว่าความสุขความสำเร็จ เราจะไม่รู้มันได้หรอก ถ้าว่ามันไม่มีทุกข์ ไม่มีความผิดหวัง สองอย่างนี้ มันปนกันมาในโลกของเรา สุขก็มี ทุกข์ก็มี สำเร็จก็มี ผิดหวังก็มี ได้ก็มี เสียก็มี ประเด็นคือ ถ้าเผื่อว่าเราตัดสินใจปฏิเสธหรือยอมรับอะไรด้วยอคติ 4 แล้วไม่สำเร็จ มันจะมาเสียใจอย่างมากเลย”

ในเอพิโสดนี้ ได้พูดถึงประเด็นที่ ถ้าต้องยอมรับหรือปฏิเสธอะไรสักอย่างใดอย่างหนึ่ง เราควรมีหลักในการใคร่ครวญพิจารณาอย่างไรบ้าง 

1) สิ่งที่ไม่ควรมี คือ “อคติ 4 ” ได้แก่ ความลำเอียงเพราะรัก (ฉันทาคติ), ความลำเอียงเพราะโกรธ/ขัดเคือง (โทสาคติ), ความลำเอียงเพราะหลง (โมหาคติ) และ ความลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ) ซึ่งทั้ง 4 อย่างนี้ ทำให้มีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในจิตใจ เกิดเป็นความผิดพลาดและเสียใจในภายหลังได้ (Regret)

2) การพิจารณาเข้ามาในทางมรรค 8 เช่น ในเรื่อง การยืมเงิน ให้พิจารณาถึงการแบ่งจ่ายทรัพย์ใน 4 หน้าที่ เจาะจงมาในส่วนที่ 3 การสงเคราะห์ญาติ

การถูกชักชวนไปที่ไหนหรือทำอะไร ให้พิจารณาถึงกุศลอกุศลที่จะเกิดขึ้น อย่าให้ทำผิดศีล เพลิดเพลินลุ่มหลงไปกับด้วยเรื่องของกาม พยาบาท เบียดเบียน อบายมุข หรือไปในสถานที่อโคจร  

ในเรื่องการงาน ให้ตั้งเป้าหมายในชีวิตด้วยอิทธิบาท 4 จะได้รู้ว่าเราต้องการอะไร มีทิศทางในการดำเนินไปอย่างไร  เพื่อที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการชักชวนนั้นได้อย่างมีน้ำหนัก

3) ให้เข้าใจโลกนี้ว่า มีทั้งสุขและทุกข์พอ ๆ กัน มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ให้เราตั้งไว้ในกุศลธรรมความดี อย่ามีความเสียใจที่เป็นอกุศลเมื่อไม่สำเร็จ หรือ อย่าเหลิงเพลิดเพลินไปตามความสำเร็จที่เกิดขึ้น

**เทคนิคสำหรับปฏิเสธการชักชวนที่จะไม่ให้บัวช้ำ น้ำขุ่น คือ ปฏิเสธไปตรง ๆ เลย โดยอย่าให้มีอกุศลเกิดขึ้นในวาจาของเรา เช่น โกหก ด่าทอว่าร้าย, ในทางใจ อย่าให้มีความคิดพยาบาทปองร้าย แต่ให้มีจิตเมตตามีอุเบกขาในบุคคลที่ชักชวนนั้น หรือ เปลี่ยนเรื่องพูดคุยเป็นเรื่องอื่นไป หรือในทางกลับกัน เราก็ชักชวนเขากลับแทน ให้ไปในทางที่ดีทั้งต่อเขาและต่อเรา หรือหาข้ออ้างขึ้นมา โดยที่ไม่ใช่การโกหก และที่สำคัญต้องมีการกล่าวคำขอบคุณและมีความปรารถนาดีต่อกัน เพื่อให้การปฏิเสธนั้นนุ่มนวล ไม่มีปัญหาในภายหลัง

#2033-1u0244