จุดประสงค์หลักในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การมีปัญญาในการตัดกิเลส ปล่อยวางความยึดถือในกายลงได้ ซึ่งจะสามารถปล่อยวางได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ที่แก่กล้าของแต่ละบุคคล โดยต้องปฏิบัติให้มากตามแนวทางต่อไปนี้
สุขาปฏิปทา โดยการตั้งจิตให้เข้าสมาธิ ไม่ต้องพิจารณา สำหรับผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง
ทุกขาปฏิปทา โดยวิธีการใคร่ครวญ พิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นความเป็นของไม่เที่ยง เห็นความไม่สวยงาม เห็นความเป็นของปฏิกูล สำหรับผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะ แก่กล้า

Q1: เมื่อเป็นผู้ที่มีความรักในวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) เป็นชีวิตและจิตใจ จะฝึกปฏิบัติในรูปแบบอสุภกรรมฐานอย่างไรให้ได้ผล

ต้องเปลี่ยนมุมมอง พิจารณาเห็นถึงความเป็นของไม่สวยงาม ความเน่าเหม็นของร่างกาย ไม่ตั้งความพอใจในสรีระของตนเอง เห็นกายเป็นของไม่น่ายึดถือ เป็นของไม่เที่ยง เพื่อการจางคลายและปล่อยวางลงได้

Q2: ต้องทำบุญอย่างไร มากน้อยเพียงไร จึงจะได้ผลบุญที่ดี ได้ผลบุญที่มาก และมีวิธีดูอย่างไรว่าเราทำบุญไปมากพอแล้ว

การทำบุญมากเพียงพอที่จะเหนือบุญและเหนือบาป นั่นคือ การบรรลุธรรมเข้าสู่พระนิพพาน หากยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใดก็ควรค่อย  ๆทำบุญอย่างต่อเนื่องให้ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ไม่เมาบุญ เพื่อการสละกิเลสและสละความยึดถือ (อุปธิ) ลงได้ ให้ได้ผลบุญมากเพียงพอ เป็นหนทางเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด

Q3: เราสามารถนำหลักของ “บุญกิริยาวัตถุ 10” มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

การทำบุญที่เกิดจากการคิด (สัมมาทิฏฐิ ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน), การพูด (ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และการกระทำ (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ซึ่งนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หลักการที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันได้ก็คือ สติ ศรัทธา และความเพียรในการทำจริง แน่วแน่จริง

Q4: เมื่อพระห้ามไม่ให้คนเข้าไปทำบุญที่วัดหรือที่สำนักสงฆ์ พระบาปหรือไม่ และโยมผู้ถูกห้ามบาปหรือไม่

จะเป็นบาปหรือบุญนั่นขึ้นอยู่กับมุมมองและเจตนา สิ่งที่สำคัญคือ เราควรจะควบคุมความคิด คำพูด และการกระทำของเราให้เกี่ยวเนื่องกับกุศลกรรมมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับบุคคลอื่น เวลา หรือสถานที่เลย

Q5: ฝึกสมาธิมาระยะหนึ่งแล้วได้ความสงบพอสมควร ในช่วงนี้เมื่อมีผัสสะเข้ามาก็พยายามวาง เช่น ไม่โกรธ แต่รู้สึกว่าตอนที่ผัสสะเข้ามากระทบกับใจ ตัวเองจะพูดกับตัวเองว่า อย่าโกรธ ต้องปล่อยวาง พยายามอยู่กับลมหายใจ จึงรู้สึกสับสนว่าตัวเองผิดปกติหรือเปล่าที่พูดอยู่กับตัวเอง

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ถือเป็นวิตกวิจาร ที่เมื่อต้องการหลีกออกจากเรื่องของกาม ความพยาบาท หรือเบียดเบียน ถือว่าเป็น “องค์แห่งฌาน” แล้ว ซึ่งประกอบด้วย วิตกวิจาร สมาธิ ปิติ สุข และจิตที่เป็นหนึ่ง (เอกัคคตา)