“สุภสูตร” ว่าด้วยเรื่องอริยขันธ์ 3 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ปรารภสุภมาณพโตเทยยบุตรได้ให้คนไปนิมนต์พระอานนท์ให้สงเคราะห์ไปเยี่ยมตนถึงที่อยู่ และขอโอกาสถามปัญหาว่า ‘ในฐานะที่พระอานนท์ เป็นอุปัฏฐากใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามานาน พระพุทธองค์ได้ตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรมเหล่าใด และทรงยังชักชวนประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ในธรรมเหล่าใด’

พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญและชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในกองศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะ และได้อธิบายถึงอริยศีลขันธ์ อริยสมาธิขันธ์  และอริยปัญญาขันธ์โดยรายละเอียดไปตามลำดับ เมื่อแสดงธรรมจบ สุภมาณพโตเทยยบุตร ได้สรรเสริญและแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้น เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอย กาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ…สุภสูตร ว่าด้วยเรื่องอริยขันธ์ 3