ในเอพิโสดนี้ เป็นซีรีส์หัวข้อแม่บทที่จะอธิบายในเรื่องของ “อริยมรรคมีองค์ 8” ที่เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ 4 โดยในที่นี้ได้สงเคราะห์แจกแจงจัดตามหมวดหมู่ 3 อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เบื้องต้นจึงนำเอาหัวข้อของ “สัมมาวาจา” ซึ่งเป็นเรื่องของศีลขึ้นมาก่อน เน้นเจาะลงไปในเรื่องของการนำไปใช้งาน และกรณีตัวอย่าง (Case study) ว่าในแต่ละกรณี ๆ นั้น เราจะมีวิธีการปฏิบัติในเรื่องของสัมมาวาจาอย่างไร จึงจะรู้ว่า ผิด หลุด ออกจากมรรคไปแล้ว หรือ ถ้าผิดไปแล้ว จะแก้มาให้ตรงทางได้อย่างไร

หลักสำคัญ คือเจตนาในการที่จะให้เกิดความดีขึ้น เจตนาในการที่จะให้กิเลสในใจของเราลดลง เมื่อถ้าพูดไปแล้วเกิดพลิกผันเป็นอย่างอื่น เกิดมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ก็ให้อดทนเอา เพราะบางทีคนฟังด้วยกิเลส ก็รักษาจิตใจตัวเองไม่ได้ ให้เอาหลักเกณฑ์ในข้อสัมมาวาจานี้ เป็นหลักในแนวทางปฏิบัติของเรา

ลักษณะของสัมมาวาจา -สี.ที. ๙/๘๓/๑๐๓.
(อมุสาวาท) คือเธอนั้น ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท พูดแต่ความจริง รักษาความสัตย์ มั่งคงในคำพูด มีคำพูดควรเชื่อถือได้ ไม่แกล้งกล่าววาจาให้ผิดต่อโลก.
(อปิสุณวาท) คือเธอนั้น ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกแก่ฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้ ; หรือได้ฟังฝ่ายโน้นแล้ว ไม่เก็บมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น ; แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น; เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้เกิดพร้อมเพียงกัน.
(อผรุสวาท) คือเธอนั้น ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่.
(อสัมผัปปลาวาท) คือเธอนั้น ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อกล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา.

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต S01E03 ,เข้าใจทำ (ธรรม) S07E28 , คลังพระสูตร  S08E20 , S08E16 , ตามใจท่าน S10E02 ,  #วาจาที่ควรกล่าว