สืบเนื่องจากช่วงขุดเพชรในพระไตรปิฏกได้กล่าวถึงการสนทนาธรรมระหว่างวิสาขอุบาสกและพระธรรมทินนาเถรี ใน จูฬเวทัลลสูตร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าและการออกจากสมาธิของเหล่านักปฏิบัติทั้งหลายที่ควรจะต้องมาทำความเข้าใจในจุดนี้ เจาะลงไปในเรื่องของ สมาธิและสังขาร

พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบไว้ในที่อื่น ๆ เปรียบไว้เหมือนกับน้ำที่ไหลมาจากภูเขาที่มีร่องขอบกั้นเป็นแนวตามธรรมชาติ ทำให้น้ำที่ไหลลงมานั้นแรงและเร็ว แต่ถ้าว่าไม่มีขอบคันกั้นเอาไว้ มันก็จะไหลแตกกระจายไป ไม่แรงไม่เร็วไหลรั่วไปในทุกทิศทุกทาง เหมือนเวลาที่เราเสียบสายยางจับต่อกับก็อกน้ำ เพื่อที่จะล้างรถบ้าง รดน้ำต้นไม้บ้าง ถ้ามีรูรั่วอยู่ที่ปลายสายยางน้ำนั้น น้ำก็จะไม่แรง แต่ถ้าเราอุดรูรั่วทั้งหมดมันจะดี เช่นเดียวกันจิตของเรามันรั่วไหลไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจได้

จิตรั่วออกไปทางช่องทางใจได้ รั่วออกไปทางธรรมารมณ์ ไหลไปตามความคิดนึกเป็นวจีสังขารบ้าง เป็นจิตสังขารบ้าง เราจึงต้องมีการปิดกั้น ซึ่งลักษณะการปิดกั้นได้นั่นเป็นเพราะ “สติ”  สติจึงเป็นเหตุเกิด  เป็นนิมิตร เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อน พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “บุคคลที่มีสัมมาสติแล้วจะสามารถทำสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่มีได้ เป็นได้”

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ขุดเพชรในพระไตรปิฎก Ep.36 , คลังพระสูตร Ep.61  นิทานพรรณนา Ep.40