Q: ความต่างระหว่างขันติกับอุเบกขา
A: เมื่อมีเรื่องมากระทบใจแล้ววางเฉยได้ นั่นคือ อุเบกขา ความที่ไม่ปะทุออกไปอดทนได้ นั่นคือ ขันติ อดทนไม่ใช่เก็บกด เพราะในขันติย่อมมีปัญญาที่จะสกัดสิ่งที่เป็นอกุศลได้

Q: ติดสมาธิทำให้ไม่ก้าวหน้าในธรรม?
A: สมาธิชั้นสูงต้องดู 3 สิ่งนี้ประกอบ คือ นิมิตเพื่อความเพียร นิมิตเพื่อสมาธิ นิมิตเพื่ออุเบกขา 3 อย่างนี้ต้องไปด้วยกันอย่างสมดุล เมื่อเวลาเหมาะสมจะปล่อยวางได้ ถ้าสมาธิในความหมายของสมถะถ้ามากไปจะเกียจคร้านหย่อนไปไม่เกิดปัญญา ควรมีความแยบคายในการปฏิบัติโดยการปรับอินทรีย์ 

Q: สมาธิได้เป็นสุข แต่ตัน จะไปต่อได้อย่างไร
A: ความสุขในสมาธิไม่ควรกลัว ควรทำให้มี สิ่งที่ควรแก้ คือ ความเพลินในความสุขจากสมาธินั้น ความเพลินนี้ไม่ดี ต้องมีสติให้เกิดปัญญาเห็นความไม่เที่ยงในสุขนั้น ละความยึดถือในสมาธินั้น เห็นว่าไม่ใช่ของเรา จะไปต่อได้

Q: กรรมเกิดจากอะไร
A: เหตุเกิดของกรรม คือ ผัสสะ

Q: ถ้าเหตุของกรรม คือ ผัสสะ แล้วกรรมจะส่งผลถึงเราได้อย่างไร
A: ถ้าเจตนาที่กระทำเป็นชนิดอบุญ บาปนั้นจะให้ผลเป็นทุกข์ บุญผลจะเป็นสุข อเนญช ผลคือ เหนือบุญเหนือบาป การที่เรารับรู้ต่ออารมณ์ได้นั่นคือกรรมเก่า รับรู้ผ่านทางนามรูปทางกายนี้ นี่คือ ผลของกรรมที่ส่งถึงตัวเรา

Q: แก้กรรมได้หรือไม่
A: พระพุทธเจ้าใช้คำว่าสิ้นกรรม กรรมเจือจางได้ทำให้สิ้นได้ด้วยปฏิปทา คือ มรรค 8 หรือธรรมข้อใดข้อหนึ่ง เช่น พรหมวิหารชั้นอริยะ เพราะนิพพานขึ้นได้หลายท่า