Q: เพราะเหตุใดปฏิบัติธรรมแล้วมีอาการแน่นหน้าอก ปวดหัว นอนไม่หลับ ? A: ถ้าเราปฏิบัติแล้วทำด้วยตัวเองได้ อะไรที่ไม่ดี ละได้ เมื่อทำได้แล้วจึงอยากได้เพิ่มขึ้น เพราะอยากจึงบังคับ เพราะบังคับจึงปวดหัว แน่นหน้าอก เครียด นอนไม่หลับ จิตไม่สงบ / สติ สมาธิ ความสงบ จะไม่ได้ด้วยการข่มขี่ บังคับ การห้ามหรือการปรุงแต่ง แต่จะได้ด้วยการ ประคบประหงม ประคับประคอง / สมาธิเป็นของประณีต เป็นของระงับ “ยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ได้” การนอนไม่หลับ มีอยู่ 2 อย่าง1. การนอนไม่หลับแบบดี คือจิตเป็นสมาธิแล้วนอน ตื่นมาไม่รู้สึกเพลีย เพราะร่างกายพักผ่อนอยู่ในสมาธิ ด้วยสติที่มีกำลังจึงรู้สึกตัวอยู่ตลอดเหมือนไม่หลับเลย2. การนอนไม่หลับแบบอินซอมเนีย (โรคนอนไม่หลับ) เกิดเพราะความเครียด เครียดแล้วเก็บมาคิด ยิ่งคิดยิ่งนอนไม่หลับ ข่มตาให้หลับ ก็ไม่หลับ หรือหลับไปไม่นานก็ตื่น กลับมาคิดเรื่องเดิม ตื่นแล้วเพลียวิธีการแก้ไข คือ อย่าให้มีความอยาก พระพุทธเจ้าท่านเคยเปรียบไว้กับแม่โคปีนภูเขา ที่มันจะพยามกินหญ้าตามภูเขาไปเรื่อย ๆ แม่โคที่ไม่ฉลาด เท้าหลัง เท้าหน้ายืนอยู่บนหินที่ง่อนแง่น จะก้าวต่อหรือถอยหลังก็ไม่ได้ ก็ล้มลง แม่โคที่ฉลาด จะหาจุดยื่นที่มั่นคงแล้วเดินก้าวเท้าไปข้างหน้าได้มั่นคง ยกตัวอย่างนักบัญชีในสมัยพุทธกาล ชื่อ “คณกโมคคัลลานะพราหมณ์” ท่านมีวิธีการฝึก คำนวณ ซึ่งทั้งต้องเก่งทั้งการนับและการคูณ หากจะนับสิบได้ ต้องนับหน่วยก่อน จะนับพันได้ ต้องนับร้อยได้ก่อน ต้องเป็นขั้นเป็นตอน กระโดดข้ามไม่ได้ เช่นเดียวกันกับธรรมะวินัยของพระพุทธเจ้า เราต้องฉลาดในการแยกแยะความคิด เริ่มจากสังเกตความคิด อย่าบังคับความคิด ขั้นต่อไปค่อยแยกแยะว่าอะไรดี ไม่ดี แล้วเอาจิตไปในทางดี ไม่เอาความคิดไม่ดี ถ้ามีความคิดไม่ดี รีบละ(ไม่ใช่บังคับความคิด แต่ไม่ใส่ใจไปในมัน) พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบเทียบ เรื่องของสัตว์ 6 ชนิด (จระเข้ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง นก งู) นำมาผูกไว้กับเสา สัตว์แต่ละชนิดที่มีเรี่ยวแรงอยู่ก็จะพยามกลับไปยังที่กิน ที่เที่ยวของมัน “จิตเราน้อมไปในสิ่งไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง” ถ้าเราน้อมไปตามความคิด ความคิดก็จะมีพลัง ถ้าเราไม่น้อมไปตามความคิด ความคิดนั้นก็อ่อนกำลัง ในที่นี้ เราจะบังคับไม่ได้

Q: เมื่อมีกามตัณหา เราควรระงับอย่างไร ?A: กามตัณหา ดับได้ด้วยมรรค 8 (สามารถนำมาใช้ได้ทุกข้อ) หรือ ใช้วิธีคู่ตรงข้ามของกามตัณหาคืออสุภะ พิจารณาลงไป เห็นโดยเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด ไม่น่ายินดี

Q: เมื่อประสบเหตุทุกใจจะมีวิธีหรืออุบายออกจากทุกข์อย่างไร ?A: ทุกข์ แล้วไปตามทุกข์ คือ เพลินไปในทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่านั่นเป็นของเรา “หากยึดถือตรงไหน ทุกข์ใจตรงนั้น” เราจะวางความยึดถือได้ ต้องกำจัดความพอใจในสิ่งนั้น โดยอาศัย มรรค 8 / ศีล สมาธิ ปัญญา