การปล่อยวาง ไม่ใช่ ความไม่สนใจ ความไม่ใส่ใจ ปล่อย ๆ มันไป ละเลย มองไปทางอื่นเสีย ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง
กระบวนการปล่อยวางที่ถูกต้อง เป็นไปตามลำดับโดยรายละเอียด
อย่าเอาตัณหากับมรรค 8 มาสับสนกัน เพราะว่าถ้าเราเอามาสับสนกันมากเท่าไหร่ ในการกระทำการประพฤติปฏิบัติของเรามันจะกลายเป็นการเพิ่มพูนตัณหา แต่กิจที่ควรทำในเรื่องของตัณหามันแตกต่างกันกับมรรค 8 เพราะตัณหานั้นพระพุทธเจ้าให้ละ ให้ทิ้ง ให้อย่าไปใส่ในมัน ให้ปล่อยปละละเลยมัน ให้มองไปทางอื่นเสีย ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างมัน
เราจะวางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันต้องวางที่ตัวตัณหา เพราะว่าถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราละตัณหาได้ ทิ้งมันได้ ปล่อยมันได้ ไม่ถือเอาไว้ซึ่งตัณหาเหล่านี้แล้ว ขันธ์ 5 คือ ความทุกข์ทั้งหลายก็เป็นเหมือนละไปด้วย เหมือนทิ้งไปด้วย วางได้ปล่อยได้ สลัดคืนได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยคือ ละ ทิ้ง วาง สละ ปล่อยคืนแล้วซึ่งตัณหา และเพราะว่าทั้งสองอย่างนี้มันพ่วงกันอยู่ มันติดกันอยู่ อันหนึ่งคว่ำ อีกอันหนึ่งก็คว่ำไปด้วย อันที่เป็นเหตุคว่ำไปนั้นคือตัณหา ความทุกข์ก็เป็นอันหลุด ละ เลิก ถอนไปได้ด้วยเหมือนกัน