“กามสุขัลลิกานุโยค” การหาความสุขจากกาม เป็นความสุขน้อย ทุกข์มาก เป็นความสุขที่เป็นมิจฉาทำให้กิเลสพอกพูน เป็นการกระทำที่ยังต่ำ เป็นของชาวบ้าน ปุถุชน ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน จึงเป็นสิ่งที่ควรละเสีย

เราจึงควรมาหาความสุขในทางที่หลีกออกจากกาม โดยการมีศีลให้ครบบริบูรณ์ โดยเริ่มจากศีลห้า คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด เพ้อเจ้อ คำหยาบ ส่อเสียด ไม่เสพสุรายาเสพติด เมื่อเรารักษาศีลได้ กามจะไม่มาบีบคั้นเราได้ เราจึงมีจิตใจผาสุก ไม่ร้อนใจ

การที่จะรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย เราต้องระลึกถึงศีลอยู่ตลอด เรียกว่า “สีลานุสติ” ควบคุมจิตใจตนเองให้อยู่ในกรอบของศีล บาปอกุศลจะค่อยๆ ถูกปลดออกจากใจ เราจะสบายใจ ไม่ร้อนใจ เกิดปิติ พอมีสติที่เกิดจากการระลึกถึงศีลของตนเป็นประจำ จิตก็จะระงับลงๆ จนจิตเข้าเป็นอารมณ์อันเดียวได้ คือ สมาธิ เป็นจิตที่สงัดจากกาม พยาบาท เบียดเบียน จิตก็จะเป็นปีติ สุข เป็นความสุขที่เหนือกว่ากาม เกิดสัมมาทิฏฐิแต่มันก็ยังเกี่ยวข้องกับสุข-ทุกข์ จุดประสงค์ คือ เพื่อให้เราจะอยู่เหนือสุข-ทุกข์ เราจึงต้องมีทั้งสุขและทุกข์ และต้องมองให้เห็นตามความเป็นจริง

เมื่อเราไม่หากามสุขไปในกาม 4 อย่างด้วยการผิดศีลแล้ว หลีกออกจากกาม เราจึงมีสุขที่เกิดจากภายใน จากจิตที่ระงับจนเกิดสุขจากฌานสมาธิ 4 ขั้น และอานิสงส์ผลที่ได้ คือ ปัญญา ปัญญาก็จะออกผลออกมาเป็น 4 อย่าง คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล ปัญญาเป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน