การดูจิตให้เห็นจิตด้วย “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” โดยเริ่มจากตั้งสติแล้วจิตจดจ่อจนจิตตั้งมั่น เราจะเห็นจิตที่ถูกหลอก และการดับทุกข์ คือ การวาง

จิตหลอกที่ 1 : เรามักจะเข้าใจว่าผู้ที่เข้าไปรับรู้สิ่งต่าง ๆ นั้นคือ จิตเรา หรือ “ความรับรู้” กับ “จิต” เป็นสิ่งเดียวกัน จริง ๆ แล้วเราเข้าใจผิดว่า ความรู้สึกต่าง ๆ คือ จิต จริง ๆ แล้วไม่ใช่ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง การรับรู้ของจิต (จิตวิญญาณ) เป็นการปรุงแต่งของจิต (จิตสังขาร) เวทนา สัญญา ของจิต ซึ่งเป็นคนละสิ่งกับจิต “ไม่ใช่จิต” สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ โดยมีผัสสะมากระทบกับอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดเป็นวิญญาณ คือ การรับรู้ ซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ตาย ที่ยังมีเชื้อจากกิเลส อาสวะ อวิชชายังสามารถงอกได้ โตขึ้นเกิดตัณหา และอุปาทานทำให้เข้าไปยึดว่าวิญญาณป็นจิต แล้วก็นำพาให้ก้าวลงไปยึดต่อในสัญญา สังขาร เวทนาทำให้เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา เกิดสภาวะ ในวัฏสงสารไม่จบไม่สิ้น หากแต่ด้วยสติที่ตั้งมั่น จิตที่สงบ ระงับ เราจะแยกจิตออกจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้ ว่าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และ “เห็นจิตในจิต” เห็นว่าขันธ์ทั้งห้าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นทุกข์ เราควรละ วาง สลัดออก ปล่อยวางขันธ์ทั้งห้าเสีย

จิตหลอกที่ 2 : เมื่อจิตสงบนิ่ง แยกจิตเป็นคนละอย่างออกจากความรับรู้ได้ และเห็นจิตในจิต จนเกิดเป็น “จิตประภัสสร” คือ จิตที่ผ่องใสจากการตั้งมรรคมีองค์แปดประการ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง หากแต่วันไหนเผลอ เพลิน ก็จะมีกิเลส อาสวะเป็นอาคันตุกะจรมา จิตประภัสสรก็เปลี่ยนเป็นจิตเศร้าหมอง แม้จิตประภัสสรเองก็ยังไม่เที่ยง ยังแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เราไม่ควรที่เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เราต้อง “วาง ละ สลัดออก” แม้จิตประภัสสรที่ไม่เที่ยงนั้นเสีย นั่นคือ นิโรธการดับทุกข์ วางแล้วคุณจะถึงที่หมาย คือ พระนิพพาน คือ ความเย็น