“ตราชู”  ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบเทียบไว้เป็นมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ ได้กล่าวเปรียบเทียบ การที่เราจะมีแบบอย่างที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) มีการประมาณที่คาดคะเนได้ว่า การปฏิบัติของเราที่จะทำให้มันดี ทำให้มันชอบ ทำให้มันเลิศ ทำให้มันสูง ทำให้มันตรงเยี่ยมนั้น จะเอาที่ตรงระดับไหน

จึงยกพระสูตรว่าด้วยความปรารถนา ที่มาใน จตุกนิบาติ ข้อที่ 176 โดยกล่าวถึงการตั้งความปรารถนาโดยยกในเรื่องของสงฆ์คือหมู่ผู้ฟังคำสอน ทั้ง 4 จำพวก อย่างละคู่ รวม 8 บุคคล ได้แก่ พระสารีบุตร-พระมหาโมคคัลลานะ, เขมาภิกษุณี-อุบลวรรณาภิกษุณี, จิตตคหบดี-หัตถกอุบาสก,นางอุตตรา นางขุชชุตรา มาให้ได้ศึกษากันโดยอธิบายแต่ละคนไล่ขึ้นแบบปฏิโลม ซึ่งเมื่อเราได้ตั้งความปรารถนา มีการอ้อนวอนให้ได้ตามความปรารถนานั้น ก็จะต้องมีแบบอย่างเอามาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน เอามาไว้เป็นตราชู  เอามาใช้เป็นคู่เปรียบในการปฏิบัติของเราให้มันดี เป็น “สุปฏิปันโน” ปฏิบัติให้มันชอบ เป็น “อุชุปฏิปันโน” ปฏิบัติให้มันถูกทาง เป็น “ญายปฏิปันโน” และปฏิบัติให้มันสมควร เป็น “สามีจิปฏิปันโน”

และขอฝากไว้ในเรื่องของ “มาตรฐานของการอ้อนวอน” ที่เราจะพัฒนาปรับปรุงตัวเราให้เป็นแบบไหน เวลาที่อธิษฐานขอพร ก็ขอให้เรามีสติปัญญา มีศีล มีสมาธิ มีวิมุตติ มีวิมุตติญาณทัศนะ ให้เป็นไปอย่างในระดับของเหล่าอริยสาวกที่มีความเลิศในหมวดหมู่นั้น ๆ ให้ตั้งความปรารถนาไว้ ให้ตั้งจิตเอาไว้ ขอพรเอาไว้ มันจะเป็นการดี

[๑๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศรัทธาเมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรและโมคคัลลานะนี้เป็นตราชู เป็นประมาณแห่งภิกษุ ทั้งหลายผู้สาวกของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี และพระอุบลวรรณาภิกษุณี เถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณีนี้เป็นตราชู เป็น ประมาณแห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้มีศรัทธา เมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดีและ หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตตคฤหบดีและหัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีนี้เป็นตราชู เป็นประมาณแห่งอุบาสกทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อปรารถนาโดยชอบ พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอเราจงเป็นเช่นนางขุชชุตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดาเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นางขุชชุตราอุบาสิกา และนางเวฬุกัณฏกีนันทมารดานี้เป็นตราชู เป็นประมาณของอุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา ฯ…สัญเจตนิยวรรคที่ ๓ จตุกกนิบาต

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: ขุดเพชรในพระไตรปิฎก E02S09 ,  E02S08 , E02S04 , E02S03 , E01S34 , E01S10 , E01S09 , คลังพระสูตร E09S01