“มหาสุญญตสูตร” พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ไว้ เนื่องจากการที่พระองค์เสด็จไปยังวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ ได้ทอดพระนตรเห็นมีเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน และทราบว่าที่นี่มีภิกษุอยู่มาก จึงปรารภเหตุนี้แสดงธรรมกับพระอานนท์ถึงการที่พระภิกษุไม่ควรไปคลุกคลีอยู่เป็นหมู่คณะใหญ่ ได้ตรัสไว้ถึง โทษของการคลุกคลี และ ในเรื่องของ สุญญตา การทำจิตให้ว่างจากความเกาะเกี่ยว รวมถึงการมีสัมปชัญญะ (สมฺปชาโน) คือ การรู้ตัวรอบคอบ ในอิริยาบถต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตไม่ไหลไปตามอกุศลธรรมทั้งหลาย ทำให้เกิดฌานสมาธิ และทำให้ สุญญตสมาบัติภายใน เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้พระองค์ทรงยกในเรื่องของ กามคุณ 5, อุปาทานขันธ์ 5, อุปัททวะของอาจารย์ ศิษย์ และผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ฯ พร้อมทั้งวิธีพึงปฏิบัติต่อพระศาสดาด้วยความเป็นมิตร ขึ้นมาแสดงให้ได้ฟังเพิ่มเติมกันอีกด้วย

[๓๔๖] ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่

ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้น ๆ ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้

ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่ เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ…มหาสุญญตสูตร

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่: #จงเป็นผู้เรียกร้องพระศาสดาด้วยความเป็นมิตร , #สมฺปชาโน:การรู้ตัวรอบคอบ