“มหาลิสูตร” ปรารภเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ ได้มาเข้าเฝ้าฯ พระพุทธเจ้า พร้อมหมู่คณะ แล้วตรัสถามในเรื่องของการเห็นรูปทิพย์ และการฟังเสียงทิพย์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงถึง การประมวลพรหมจรรย์ตลอดสาย อันเป็นหนทางเป็นปฏิปทาที่ให้เกิดผล 4 อย่าง ที่ยิ่งไปกว่า หูทิพย์ ตาทิพย์  นั่นก็คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา

เมื่อมีปัญญาในส่วนที่เป็นญาณทัสนะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสามารถรู้ชัดเห็นชัดได้ว่า กายกับใจ มันเป็นอย่างเดียวกัน หรือ มันเป็นคนละอย่างกันนั้น ขึ้นอยู่เหตุปัจจัย ที่ถ้าเมื่อเราปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะมีความเข้าใจในหลักเหตุผลในข้อนี้ได้

มหาลิสูตร

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิต ทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดังนี้.