การ ‘คบบัณฑิต’ เป็นมงคลชีวิตข้อที่สอง โดย ‘บัณฑิต’ ใน พาลบัณฑิตสูตร มีลักษณะ 3 อย่าง คือ มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี มักทำการทำที่ดี หรือ กุศลกรรมบท 10 นั่นเอง

การ ‘คบบัณฑิต’ นั้น ก็คือ การรับแนวความคิด แนวการปฏิบัติ รวมถึงการให้การสนับสนุน และทำไปในแนวทางเดียวกัน โดยผู้ที่สามารถแยกแยะ ‘รู้สิ่งที่ผิด–รู้สิ่งที่ถูก’ ได้นั้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของบัณฑิต สามารถฝึกพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ฝึกฝนตนให้ คิด พูด ทำดี ได้เป็นปกตินั้น จึงเป็นบัณฑิต ผู้รู้ประโยชน์ ทั้งในปัจจุบัน ในเวลาต่อมา และที่สุดอีกด้วย

อนึ่ง มงคลชีวิต 38 ประการ ได้แบ่งออกเป็น 10 คาถา (บทร้อยกรอง) ดังนี้ 1. ดูวงนอก ผู้อื่น (มงคลฯ ข้อที่ 1-3), 2. ดูวงใน สร้างความพร้อมในตน (ข้อ 4-6), 3. ฝึกตนให้มีประโยชน์ (ข้อ 7-10), 4. ทำประโยชน์ต่อครอบครัว (ข้อ 11-14), 5. ทำประโยชน์ต่อสังคม (ข้อ 15-18), 6. ปรับสภาพจิตใจให้พร้อม (ข้อ 19-21), 7. แสวงหาธรรมเบื้องต้น (ข้อ 22-26), 8. แสวงหาธรรมเบื้องสูง (ข้อ 27-30), 9. ฝึกทำกิเลสให้สิ้นไป (ข้อ 31-32), 10. เรื่องของปัญญา (ข้อที่ 33-38)

ทั้งนี้ คาถากลุ่มแรกคือ ไม่คบคนพาล, คบบัณฑิต และบูชาคนที่ควรบูชา ซึ่งการบูชานั้นมี 4 รูปแบบ เริ่มจากปัคคัณหะ (การยกย่อง) และอีก 3 แบบ จะกล่าวในตอนต่อไป