“คนที่เห็นภัยจากการต้องอาบัติ 4 อย่างนี้ จะพยายามที่จะไม่ผิด พยายามที่จะทำให้ถูกกลับคืนได้”

โพชฌังคสูตร: ในส่วนของกรรมไม่ดำไม่ขาว ในข้อนี้ คือ โพชฌงค์ 7 สาวัชชสูตร และอัพยาปัชฌสูตร พูดถึงกรรม และทิฏฐิที่มีโทษ/ที่ไม่เบียดเบียน โดยอิงจากกายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 และทิฏฐิ ทิฏฐิในที่นี้ คือ ความเชื่อสุดโต่ง 10 ประการ ที่มีกันอยู่ในขณะนั้น สมณสูตร: ตอบเรื่องสมณะ 4 ที่ไม่อาจหาได้ในคำสอนอื่น มีแต่ในคำสอนนี้ เพราะมีเหตุ คือ มรรค และผล คือ สมณะ 4 สัปปุริสานิสังสสูตร: คบคนไม่ดีขาดทุน คบคนดีกำไร โดยดูจาก อริยศีล:ศีล 5 หรือมากกว่า อริยสมาธิ:ฌาน 4 อริยปัญญา:เห็นเกิดดับ และอริยวิมุตติ:การพ้น ใช้ตรวจสอบตนเองว่าพัฒนาขึ้นหรือไม่ จบกัมมวรรค

เริ่มอาปัตติภยวรรค: สังฆเภททสูตร: เกี่ยวกับการลงกันไม่ได้ การไม่ยอมกัน เพราะมีผลประโยชน์ 4 ข้อนี้แฝงอยู่ คือ เป็นคนทุศีล มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาอาชีวะ และเกรงว่าลาภสักการะจะหายไป ควรเห็นประโยชน์ที่จะได้จากมรรคแปดเป็นหลัก จึงจะสามัคคีกันได้ แล้วจะชนะกันได้ด้วยธรรมะ อปัตติภยสูตร: อาบัติไม่ใช่อาชญาไม่ใช่ศาสตรา แต่เป็นลักษณะบอกขอบเขตเอาไว้ว่า ถ้าเกินตรงนี้กุศลธรรมจะลดลงตามระดับอาบัติที่แตกต่างกัน ให้เห็นภัยไม่ทำ แต่ถ้าทำแล้วให้พยายามที่จะกลับมาทำให้ถูกกลับคืนได้ ปาราชิกเทียบกับโทษประหารแห่ประจาน สังฆาทิเสสเปรียบเหมือนติดคุกพระ ปาจิตตีย์ และปาฏิเทสนียะก็ไล่ลำดับอาบัติที่น้อยลงมา แม้แต่ปาราชิกหมดความเป็นพระก็ยังเปิดโอกาสให้กลับมาทำให้ถูกโดยเป็นเณรได้ 

(จตุกกนิบาต: กัมมวรรค ข้อที่ 238 – 242 และอาปัตติภยวรรค ข้อที่ 243 – 244)