สติเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการฝึกสมาธิ สติ คือ การระลึกได้ การได้มาของการระลึกได้ ต้องรู้จักการสังเกต หรือการกำหนดนิมิต ฝึกสังเกตผัสสะ สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้สภาวะต่าง ๆ โดยรวม ๆ

พระพุทธเจ้าอุปมาไว้ในสูทสูตร เปรียบเหมือนพ่อครัวที่ฉลาดรู้จักสังเกตเครื่องหมายว่า อาหารรสชาติแบบใด ชนิดใดที่พระราชาชอบ เขาก็จะได้รับรางวัลจากพระราชา

การฝึกสมาธิก็เช่นกัน เริ่มจากฝึกสังเกตเครื่องหมาย โดยกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ไว้ที่ปลายจมูก ประกอบความเพียรจนจิตตั้งมั่น สงบ ระงับ และสังเกตเครื่องหมายหรือนิมิตต่อไปอีก จนเห็นเครื่องหมายของความไม่เที่ยงของลมหายใจเข้า-ออก ทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ จนเห็นความไม่มีตัวตน อนัตตา สิ่งต่าง ๆ ต้องอาศัยเหตุปัจจัย เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ต้องหมั่นเพียรสังเกตดูนิมิตหรือเครื่องหมายของความไม่เที่ยง และเหตุปัจจัยให้ดี

ความได้เห็นนิมิตหรือเครื่องหมายของความไม่เที่ยง และไม่มีตัวตนนี้ คือ เห็นได้ด้วย “ปัญญา” ปัญญาเปรียบเหมือน คมมีด ไว้เพียรตัดกิเลส เพื่อการเข้าสู่พระนิพพาน