ตัณหาเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ต้องคอยรักษาจิตด้วยองค์แห่งมรรค อีกทั้ง พึงตักเตือนตนด้วยตน เป็นสิ่งที่เราควรต้องทำอยู่เป็นประจำ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ท่านทั้งหลายจงมีความเพียร มีความสลดใจ เหมือนม้าดีถูกเขาตีด้วยแส้แล้ว มีความบากบั่น ฉะนั้น. ท่านทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ สมาธิ และด้วยคุณเครื่องวินิจฉัยธรรม มีวิชชาและจรณะถึงพร้อม มีสติมั่นคง จักละทุกข์อันมีประมาณไม่น้อยนี้ได้”

ตัวอย่างที่มาในนิทานพรรณนานี้ ได้ยกเอาเรื่องของผู้ที่มีความเพียร คอยตักเตือนตนด้วยตน เพื่อละซึ่งตัณหาขึ้นมา  3 คน ได้แก่ เรื่องของมาคันทิยะพราหมณ์, พระปิโลติกเถระ และพระนังคลกูฏเถระ ซึ่งในเรื่องของภิกษุทั้ง  2 รูป มีความเหมือนกันตรงที่หลังจากบวชแล้ว ก็มีความต้องการที่อาจจะสึกเป็นอย่างมาก แต่ด้วยมีความเพียรที่จะปรับปรุงพัฒนาจิตใจด้วยการตักเตือนตนด้วยตน จึงได้บรรลุพระอรหัตผลในที่สุด 

ในตอนท้ายยังได้ยกตัวอย่างในคู่ตรงข้าม ให้เห็นถึงโทษของการเตือนตนด้วยตนไม่ได้ อย่างในเรื่องของ นายจุนทสูกริก (คนฆ่าหมู) ที่ได้รับความทุขเวทนาแม้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และหลังตายก็ได้ไปเกิดในอเวจีมหานรก รับผลกรรมตามก่อไว้