จากทั้ง 2 พระสูตรนี้ สามารถใช้อ้างอิงเป็นกรณีศึกษาได้ โดยกล่าวถึงว่า หากเรามีความรู้ ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ไม่แจ่มแจ้งหรือไม่ตรงกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในอรรถะหรือบทพยัญชนะก็ตาม จึงจำเป็นต้องกลับมาที่ตัวแม่บทก่อน โดยมี พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นที่ตั้ง มีความเคารพยำเกรง เห็นพ้องลงร่วมกันในธรรมะของพระพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ดีแล้ว ค่อยทำการวิเคราะห์ไปตามบทพยัญชนะ พิจารณาตามเหตุตามปัจจัย จะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่คณะได้

พหุเวทนิยสูตร ณ พระเชตวัน ปรารภเหตุช่างไม้ชื่อ ปัญจังคะ กับ พระอุทายี กล่าวไม่ตรงกันในข้อว่า พระพุทธองค์ตรัสในเรื่องของเวทนาไว้กี่อย่าง โดยพระอุทายีกล่าวว่ามี 3 อย่าง คือ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข.แต่ช่างไม้ฯ กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือ สุข กับ ทุกข์ ส่วนไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในสุขอันประณีต ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถจะตกลงกันได้ เมื่อพระอานนท์ได้ฟังข้อสนทนาของทั้งสองฝ่าย จึงนำความไปกราบทูลฯ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงแสดงในเรื่องของเวทนาไว้โดยปริยายหลายแง่หลายอย่าง มีอยู่ ผู้ที่ไม่ยินยอมรับรองคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกันในธรรมะที่ทรงแสดงแล้วโดยปริยาย ก็หวังได้ว่าจะบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็พร้อมเพรียง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำกับน้ำนมที่เข้ากันได้ มองกันและกันด้วยความรักใคร่เอ็นดู และได้ตรัสถึงความสุขที่เป็นขั้น ๆ 10 อย่างที่ประณีตขึ้นไปกว่ากันโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่กามคุณ 5 ไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ

สมณมุณฑิกสูตร  ณ พระเชตวัน เช่นกัน ปรารภปริพพาชกชื่อ อุคคาหมานะ ผู้เป็นบุตรแห่งนางสมณะผู้โกนผม ได้สนทนากับช่างไม้ชื่อปัญจังคะ ในเรื่อง ตนได้บัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 4 อย่างว่าเป็นสมณะ สมบูรณ์ด้วยกุศล มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุความเป็นเลิศ ไม่มีใครรบชนะได้ คือ ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย, ไม่ทำกรรมชั่วทางวาจา, ไม่ทำกรรมชั่วทางใจ และไม่ประกอบอาชีพชั่ว เมื่อช่างไม้ฯ ได้ฟังความนั้น ก็ได้นำมาเล่าถวายให้พระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ไม่ทรงรับรองถ้อยคำของปริพพาชกผู้นั้น และตรัสสอนในเรื่องของธรรมะ 10  ประการที่ทำให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ # รักษาศาสนาด้วยการรักษา “มาติกา”