สิ่งทั้งปวงที่อาศัยเหตุปัจจัยในการเกิด ย่อมมีการปรุงแต่งและมีความเป็นอนัตตาด้วยกันทั้งสิ้น
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นได้ด้วยการทำบุญกุศลในปางก่อน และมีรัตนะ 7 ประการเป็นของคู่บารมี

“สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยและการอาศัยเหตุปัจจัย ปรุงแต่งขึ้นมาก็เป็นความไม่เที่ยง มีความเป็นอนัตตา ไม่ว่าจะเป็นของใหญ่ – เล็ก ของแข็ง – เหลว นามหรือรูป เกิดขึ้นทางกาย วาจา หรือทางใจ จะในที่ใกล้หรือที่ไกล ของหยาบ กลาง ละเอียด หรือ ประณีตล้วนปรุงแต่งโดยอาศัยเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่มีความไม่เที่ยงเราไม่สามารถที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ย่อมทำไม่ได้เพราะถ้าเราไปยึดถือก็จะเกิดปัญหากับตัวเองทันที อย่างเราจะไม่หาแก่นไม้ในต้นกล้วยก็ย่อมที่จะหาไม่เจอ เพราะมันไม่มี ฉะนั้นจะหาสาระแก่นสารในของที่ไม่เที่ยงย่อมหาไม่ได้”

ใน มหาสุทัสสนสูตร กล่าวถึงพระเจ้ามหาสุทัสน์ เป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังประทับสีหไสยาสน์ ณ ต้นสาละคู่ (เป็นการนอนครั้งสุดท้ายจะไม่ลุกขึ้น) เมื่อนอนแล้วก็ได้เล่าเนื้อความเรื่องพระเจ้ามหาสุทัสน์ มีเมืองที่เป็นราชธานีชื่อเมืองกุสาวดีซึ่งเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก 

พระพุทธเจ้าได้ปรารภถึงคทาชายนายหนึ่ง ชายคนนี้เกิดอยู่ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ชายคนนี้หาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่า มีครั้งหนึ่งเข้าป่าไปพบพระรูปหนึ่งก็เกิดเลื่อมใสก็เข้าไปกราบและสร้างสิ่งปลูกสร้างให้ท่านอยู่เป็นที่เป็นทาง พอพระรูปนี้ไปออกบิณฑบาตร ชายคนนี้ก็ขนไม้ ดินเหนียว เพื่อก่อเป็นบรรณศาลามีที่นั่ง มีกำแพง ทำทางจงกรมอย่างดี พอพระรูปนั้นกลับมาเห็นทางจงกรมเห็นบรรณศาลาที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างดี เมื่อพิจารณาว่าสามารถใช้ได้ไม่เกินฐานะของสมณะ ชายคนนั้นก็ดีใจ และกราบนิมนต์ให้พระเถระไปรับภัตตาหารที่บ้านของเขา และได้ขุดสระขึ้นใบหนึ่ง ซึ่งสัตว์ก็มาใช้น้ำในสระนี้บ้าง ชายคนนี้เลยไปสร้างรั้วและปลูกต้นตาลเป็นแนวกำแพงธรรมชาติ บริเวณทางจงกรมที่สัตว์มาทำเปรอะเปื้อนก็ได้จัดการดูแลล้อมรั้วอย่างดี และดูและเครื่องใช้สอยของพระเถระรูปนั้นอย่างดี ด้วยการทำทานครั้งนี้ทำให้ได้ครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิชื่อพระเจ้ามหาสุทัสน์ มีเมืองกุสาวดีเป็นราชธานี และชายผู้นั้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรานี่เอง