ขุดเพชรจากพระไตรปิฎก พระอุบาลีเถระ พระนันทกเถระ และพระนันทเถระ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 12: อังคุตตรนิกาย เอกกนิบาต เอตทัคควรรค ข้อที่ 228-230)
ประวัติความเป็นมาและบุพกรรมในชาติก่อน การบรรลุธรรม และความเป็นเอตทัคคะ ของพระภิกษุ 3 รูป 

พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

เมื่อเหล่าเจ้าชายศากยะพากันออกบวชตามพระพุทธเจ้า นายภูษามาลาชื่อ “อุบาลี” ก็ได้ออกบวชเช่นกัน โดยเหล่าเจ้าชายศากยะได้ให้นายอุบาลีบวชก่อน เพื่อเป็นการลดมานะความกษัตริย์ของตน ในพรรษาแรกพระอุบาลียังไม่บรรลุธรรมใด ๆ จึงขออนุญาตพระพุทธเจ้าไปอยู่ในป่า พระพุทธองค์ได้ตรัสห้าม และบอกถึงผลดีผลเสียของการอยู่ป่า  และการไม่ได้อยู่ในป่าก็สามารถบรรลุธรรมได้ ทั้งยังได้ศึกษาทั้งปริยัติธรรมและวิปัสสนา (อบรมปัญญา) ด้วย ในไม่ช้าก็บรรลุอรหันตผล

ท่านศึกษาและทรงจำพระวินัยได้อย่างแม่นยำ จนได้รับพุทธานุญาตให้วินิจฉัยอธิกรณ์ 3 เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ อัชชุกวัตถุ และกุมารกัสสปวัตถุ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ทรงพระวินัย ภายหลังเมื่อการทำปฐมสังคายนา ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชชนาพระวินัยปิฎก

พระนันทกเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาสภิกษุณี

นันทกมาณพ หลังจากฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน เกิดศรัทธาเลื่อมใสออกบวชก็บวชแล้วเจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหัตตผล ท่านเป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสญาณ สามารถระลึกชาติของตนและผู้อื่นได้ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ โดยใช้ความรู้นี้ให้เป็นประโยชน์แก่การแสดงธรรมได้ตรงใจคนฟัง มีอยู่ข้อหนึ่งที่ทำให้พระนันทกะถึงความเป็นเอตทัคคะ ก็คือ ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือถามถึงวันอุโบสถ และเข้ารับฟังโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ดังนั้นท่านจึงเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่ต้องให้โอวาท ท่านอาศัยความชำนาญในการระลึกชาติคำนึงถึงอดีตชาติของเหล่าภิกษุณี ทำให้แสดงธรรมได้เหมาะสมไพเราะจับใจ โดยการถามแล้วให้ภิกษุณีตอบสลับกับการอธิบายประกอบด้วยอุปมาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงไว้จนบรรดาภิกษุณีได้บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ให้โอวาสภิกษุณี 

พระนันทเถระ เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์

เจ้าชายนันทะ เป็นน้องชายต่างมารดาของพระพุทธเจ้า ท่านได้ออกบวชก็เพราะเกรงใจในพระพุทธเจ้าที่ตรัสถามอยู่เรื่อย ๆ ในขณะที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน และเมื่อหลังจากที่ได้บวชแล้วก็ยังอดคิดถึงแต่นางชนบทกัลยาณีไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้พาเสด็จไปท่องในเทวโลกเพื่อให้ได้เห็นนางเทพอัปสรที่มีความงดงามกว่านางชนบทกัลยาณีหลายเท่า จึงมีความกระสันอยากเกิดขึ้น  เมื่อถูก ท่านจึงตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมจนบรรลุอรหัตตผลในเวลาต่อมา

พระนันทกะ เป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรม เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ตามประกอบอยู่ด้วยธรรมอันเป็นเครื่องตื่น ตามประกอบอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้สำรวมอินทรีย์

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: คลังพระสูตร Ep.57