…”ถ้ามันยึดถือตรงไหน คุณจะละความยึดถือได้ต้องละตรงนั้น”…

Q: มีจิตฟุ้งซ่านมักน้อมไปทางอกุศล แล้วส่งผลต่อร่างกาย ควรทำอย่างไร

A: ถ้าจิตดื้อมากพยศมากต้องขนาบให้มาก ต้องมีทักษะเหมือนช่างไม้ อาจจะใช้พุทโธเรียกสติ, มองเห็นสิ่งนี้แล้วคิดไม่ดีก็มองสิ่งอื่น, พิจารณาอสุภะของสิ่งนั้น, พิจารณาเห็นโทษของสิ่งที่เป็นอกุศลดั่งมองเห็นสิวบนหน้า หรือซากศพที่แขวนคอ หรือข่มจิตด้วยจิต หักดิบ ไม่ตามเสียงหรือภาพนั้นไป ให้ฝืน ให้มั่นใจว่าฝึกได้ ทำให้เต็มที่จะเห็นผล ดีคือรู้ว่าไม่ดีตรงไหน แบบนี้จะแก้ได้ ถ้าไม่เคยทำอนันตริยกรรม ไม่ติเตียนสงฆ์ รักษาศีล อราธนาพระรัตนตรัยใหม่ ก็จะเป็นทางที่ไปได้

Q: ตียุงด้วยใจที่วางเฉย บาปหรือไม่

A: มีวิธีป้องกันยุงอยู่หลายวิธี การตีโดยวางเฉยก็เป็นเจตนาที่จะให้ผลมากน้อยเหมือนกับรอยกรีดของมีดลงบนผิวน้ำหรือดินหรือหิน อย่างไรก็ตามแค่มีจิตไม่พอใจก็ถือว่าเป็นบาปแล้ว ควรทำจิตให้มีเมตตา อุเบกขา

Q: ไม่เข้าใจพุทธพจน์ที่ว่า “ท่านจงปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นอดีตเสีย จงปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นอนาคตเสีย จงปล่อยความอาลัยในขันธ์ที่เป็นปัจจุบันเสีย จักเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ มีใจพ้นวิเศษ แล้วในสังขตธรรมทั้งปวง จักไม่เข้าถึงชาติและชราอีก”

A: มาจากเรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน ข้อความเดิมคือ “ท่านจงเปลื้อง (อาลัย) ในก่อนเสีย จงเปลื้อง (อาลัย) ข้างหลังเสีย จงเปลื้อง (อาลัย) ในท่ามกลางเสีย จึงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวง จะไม่เข้าถึงชาติและชราอีก”

พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้อุคคเสนเห็นถึงโทษของความยึดถือ ความยึดถืออยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีขันธ์ 5 ในที่นี้คือ ยึดถือการแสดงที่เก่งกาจของตน แต่เมื่อได้เห็นสภาวะที่ต่างกันเมื่อไม่มีคนสนใจ และเมื่อมีคนสนใจ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงการปล่อยอันก่อน ปล่อยอันหน้า ปล่อยตรงกลาง ปล่อยจึงจะข้ามภพข้ามโอฆะได้ พอข้ามได้แล้วจึงจะมีจิตพ้นวิเศษ ละได้ในธรรมเครื่องปรุงแต่งที่เป็นฝ่ายไม่ดีและฝ่ายดี ไม่วนกลับมาอีก