จากคำถาม: จะมีวิธีโน้มน้าวให้คุณพ่อเห็นโทษและตระหนักว่าต้องเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด โดยที่ไม่ขัดกับมรรคแปดในข้อสัมมาวาจาได้อย่างไร ?

ความทุกข์มีเหตุเกิดขึ้นจากความอยาก ถ้ามีความอยากมากก็ทุกข์ใจมาก ดังนั้นต้องแยกแยะความทุกข์ที่เกิดจากความอยากกับปัญหาที่ต้องแก้…ถ้าพ่อยังเห็นประโยชน์ของการสูบอยู่ เขาก็ต้องยังสูบอยู่แน่นอน เพราะเกิดสุขเวทนาที่มาพร้อมกับการสูบนั้น แต่เกิดทุกขเวทนาถ้าไม่ได้สูบ เป็นเพราะเวทนามาเชื่อมจิตของเขาให้ติดอยู่กับความรู้สึกไม่ดีคือทุกขเวทนากับการไม่ได้สูบ และเป็นสุขเวทนากับการที่ได้สูบ จึงต้องมีการปรับตรงจุดนี้ ในการที่จะเชื่อมจิตของเขาไปในทุกขเวทนาที่ได้สูบ ไปในสุขเวทนาที่ไม่ต้องสูบ

จะปรับเปลี่ยนทิฏฐิตรงนี้ให้เป็นไปในทางตรงได้ก็ด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งธรรมะที่ต้องมีเป็นองค์ประกอบสำคัญ อันดับแรกคือมีฉันทะ มีความพอใจที่จะเลิก เห็นความจำเป็นที่จะทำ, สองคือมีศรัทธา มีความมั่นใจว่าฉันต้องเลิกได้ เปลี่ยนได้ เมื่อมีศรัทธาแล้วจะทำให้เกิดกำลังใจ เกิดความเพียร (วิริยะ) การทำจริงแน่วแน่จริง มีความกล้าที่จะเผชิญหน้าไม่ยอมไปตามอารมณ์ที่อยากจะสูบ, มีจิตที่เป็นสมาธิ จะทำให้เกิดปัญญาในระดับที่จะทำให้เห็นทุกข์ได้ ซึ่งมันจะวนมาลงที่ “เพราะทุกข์เป็นที่ตั้งของศรัทธา” พอคุณเห็นปัญหา (เห็นทุกข์เห็นโทษ) ศรัทธาเกิดขึ้นทันที ความเพียรเกิดขึ้นทันที

ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ จิตต้องอ่อนเหมาะ เป็นอารมณ์อันเดียว (สมาธิ)  การด่าว่าทิ่มแทงกันจะทำให้จิตหลุดออกจากสมาธิ ลูก ๆ จึงสามารถช่วยท่านได้ด้วยการให้กำลัง ให้ข้อมูลชี้ให้เห็นโทษเห็นประโยชน์ พูดจาดี ๆ ต่อกัน คนเราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องก็ด้วยเหตุแห่งกุศล และที่สำคัญกว่าการเลิกบุหรี่ คือ การทำให้พ่อเป็นผู้ที่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ซึ่งคนที่มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาก่อน จะสามารถโน้มน้าวคนที่ไม่มีคุณธรรมเหล่านี้ ให้มีได้