พระพุทธเจ้าทรงตรัสพระคาถา 16 บทว่าด้วยเรื่องของทรัพย์สมบัติ (นิธิ)  แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์มากและมีศรัทธามากด้วย เพื่อแสดงถึงขุมทรัพย์ที่แท้จริง และเพื่ออนุโมทนาวิธีการฝังขุมทรัพย์ของกุฎุมพีผู้นั้น    

การฝังทรัพย์สมบัติ การออมทรัพย์ การออมบุญ คืออย่างเดียวกัน เราจึงต้องรู้จักแยกแยะทรัพย์ออกเป็นทั้งหมด 4 อย่าง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ถาวรนิธิ  ขุมทรัพย์อันถาวร   เคลื่อนที่ด้วยตนเองไม่ได้      เช่น    ที่ดิน เรือกสวนไร่นา เงินทอง
ชังคมนิธิ   ขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง  เช่น  ทาสหญิง ทาสชาย ช้าง โค  ม้าลา  แพะ    แกะ   ไก่    สุกร เป็นต้น   
อังคสมนิธิ  ขุมทรัพย์ที่ติดตัว  คือ วิชาความรู้ อันเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปะประการต่าง ๆ   
อนุคามิกนิธิ ขุมทรัพย์ที่ติดตามตนไปได้  ในที่นี้กล่าวคือ บุญที่สำเร็จได้ด้วยทาน ศีล สัญญมะ (ความสำรวม) และ ทมะ (การรู้จักข่มจิตข่มใจตนเอง คือ การฝึกตน) 
ทรัพย์ที่เป็นข้าวของทรัพย์สินเงินทอง ส่วนนี้เปลี่ยนแปลงได้ ไม่สำเร็จตามที่หวังก็มี
ส่วนที่สำเร็จตามที่หวังได้คือ ส่วนที่จะต้องมีการรักษาไว้อย่างดี นั่นคือบุญ ไม่ใช่แค่เงินทองทรัพย์สินภายนอกเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องรูป ยังรวมถึงเรื่องยศ ยังรวมถึงความที่เป็นเทวดา ต่อไปจนถึงความเป็นอริยบุคคล เป็นคนประเสิรฐ ให้เกิดเป็นสมบัติ คือ นิพพาน ขึ้นได้

๘. นิธิกัณฑสูตร ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์ 

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้

[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา

[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่

[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี

[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็น ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป

[๖] ขุมทรัพย์ ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ

[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย

[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้ จะติดตามคนฝังตลอดไป บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น

[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้ ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป

[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใดๆ ผลนั้นๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา ประกอบความเพียรโดยแยบคาย ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๕] ปฏิสัมภิทา ๓, วิโมกข์ ๔, สาวกบารมี ๕, ปัจเจกโพธิ ๖, และพุทธภูมิ ๗, ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

[๑๖] บุญสัมปทานี้มีประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว

แนะนำรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ Playlists: สมการชีวิต Ep.26 , คลังพระสูตร Ep.58