การนำธรรมะคือมรรค 8 นี้ ให้มันเข้าไปสู่ในจิตในใจของเรา ทำให้มีความอ่อนนุ่มอ่อนเหมาะ มีความนุ่มนวล ซึ่งเป็นลักษณะอันควรของสมาธิ  เราจึงต้องฝึกไปทำไป ทำให้เป็นบริกรรม

พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “บริกรรม” เปรียบเทียบไว้กับการทำงานของช่างหม้อ, ช่างแกะสลัก, ช่างทอง, ช่างอัญมณี, ชาวนา และชาวเรือ ว่าเป็นการกระทำการงานให้มันครบรอบเหมาะสมครบถ้วนตามกระบวนการที่จะพัฒนาทำให้งานนั้น ๆ สำเร็จขึ้นมาได้ เช่นเดียวกันกับงานของเราที่จะต้องทำให้จิตของเรามีมรรค 8 เกิดขึ้น ซึ่งถ้ายังไม่มี ก็ต้องไปพัฒนา (ภาวนา) ทำให้มีเกิดขึ้น โดยเริ่มพัฒนาจากศีลก่อน (มีความไม่ร้อนใจเป็นพื้นฐาน) แล้วมาเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ (มีสติสัมปชัญญะ,  รู้ประมาณในการบริโภค, มีการสำรวมอินทรีย์, มีตนประกอบอยู่ในธรรมอันเป็นเครื่องตื่น ปรารภความเพียรอยู่เนื่องนิตย์, มีการยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะสนับสนุนพัฒนาให้จิตของเรานั้นเริ่มที่จะระงับลง ๆ จากความคิดนึกที่เป็นไปทางกาม พยาบาท เบียดเบียน เปลี่ยนจากอกุศลให้เป็นไปในทางกุศล)

ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ พัฒนาให้เป็นไปตามลำดับด้วยขั้นตอนที่ถูกต้อง ทำบริกรรมภาวนาให้มรรค 8 เกิดขึ้นแทรกซึมเข้ามาในจิตของเรา จิตนั้นจะมีความนุ่มนวลอ่อนเหมาะควรแก่การงาน มีความแจ่มแจ้งสว่างผ่องใส ไม่มีความแข็งกระด้างใด ๆ แต่จะมีศรัทธาที่เต็มเปี่ยม เป็นจิตที่เมื่อบริกรรมแล้ว เข้ากันแล้ว พร้อมแล้ว เหมาะแล้วที่จะเกิดปัญญาเพื่อชำแรกกิเลส ทำให้พิจารณาเห็นตามความจริงในอริยสัจ 4 พร้อมแล้วที่จะละความยึดถือ ละอาสวะ ละอวิชชา พร้อมแล้วที่จะทำวิชชาให้เกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้งได้